เหง้าและรากของกิจการนักศึกษาไทยในเยอรมัน ในทศวรรษที่ผ่านมา พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๕

15 ม.ค.

โดย ชลนภา อนุกูล

germany01
๐. อารัมภกถา

ครั้งหนึ่งข้าพเจ้านึกน้อยใจว่า ประวัติศาสตร์นักศึกษาไทยในเยอรมันนั้นแหว่งวิ่นเป็นอย่างยิ่ง สามัคคีสมาคมเป็นสมาคมนักเรียนไทยแห่งแรกโดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทรงเป็นมกุฏราชกุมาร เป็นผู้ก่อตั้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ส่วนสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสเป็นผู้ก่อตั้ง ในปี พ.ศ ๒๔๗๙ ทั้งสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษและฝรั่งเศสล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและน่าภาคภูมิ ในขณะที่สมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และไม่อาจสืบทราบได้เลยว่าใครเป็นผู้ก่อตั้ง

แม้เยอรมันได้ชื่อว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมของโลก วิศวกรชาวเยอรมันมีชื่อเสียงยิ่ง การแพทย์ของเยอรมันก็เด่นดัง ด้านกฎหมายก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่ง ทั้งปรัชญายุโรปและวิทยาการวิทยาศาสตร์หลายแขนงก็มีต้นกำเนิดในเยอรมันนี้เอง นักศึกษาไทยมาศึกษาเล่าเรียนก็ไม่น้อย แต่เรากลับไม่ทราบว่าวิศวกร นายแพทย์ นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิทยาการแขนงอื่นในเมืองไทย มีผู้ใดศึกษามาจากเยอรมันบ้าง

ในยุคสมัยของการส่งนักเรียนไทยมาศึกษายังต่างประเทศช่วงแรก พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยทือบิงเงน ก็ได้เป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ของการเป็นผู้ศึกษาจบปริญญาดุษฎีบัณฑิตเป็นคนแรกของสยาม ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ด้วยวิทยานิพนธ์ “เกษตรกรรมในสยาม: บทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ” ขณะนั้นมีพระชันษาเพียง ๒๓ ปีเท่านั้น นักเรียนทหารเยอรมันอย่างพระยาพหลพลพยุหเสนา ก็เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย บุคคลสำคัญทางสาธารณสุขอย่าง นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ นักวิจารณ์วรรณกรรมอย่างเจตนา นาควัชระ หรือหลักทางวรรณกรรมและภาษาเยอรมัน อย่างอำภา โอตระกูล เหล่านี้ก็เป็นนักเรียนเยอรมันที่ควรบันทึกนามไว้ในทำเนียบศิษย์เก่า ให้นักเรียนเยอรมันรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ทำความรู้จัก และตระหนักในศักยภาพของความเป็นคนหนุ่มสาวของตน ที่จะทำประโยชน์ให้กับโลกได้เช่นเดียวกับท่านเหล่านั้น ซึ่งก็เป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับเรา

อย่างไรก็ตาม กาลเวลาได้ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างซื่อสัตย์ นักเรียนไทยที่มาศึกษาในเยอรมันได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละปี และยังเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมพบปะสานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ของนักเรียนไทยในเยอรมันจะไม่เป็นชิ้นเป็นอันนักในช่วงแรก แต่ประวัติศาสตร์ที่นักเรียนไทยในเยอรมันได้ร่วมกันเขียนขึ้นในทศวรรษล่าสุดนี้เป็นส่วนที่งามนัก ดังผ้าทอมือที่มีลายละเอียดประณีตงาม หากปราศจากความตั้งใจจริง และความอดทนเป็นยอดยิ่งแล้ว ยากนักที่จะปรากฎผ้าทอผืนยาวออกมาได้ ข้าพเจ้าเห็นควรว่าน่าจะบันทึกประวัติศาสตร์ความทรงจำส่วนนี้เก็บไว้บ้าง ก่อนที่จะสาบสูญไปด้วยความไม่ใส่ใจอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าต้องขอเตือนว่า ประวัติศาสตร์เหล่านี้บางส่วน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสสัมผัสด้วยตนเอง เกี่ยวข้องด้วยในลักษณาการใกล้บ้างไกลบ้าง ตามแต่จังหวะของชีวิต ข้อเขียนชิ้นนี้จึงยากที่จะหลุดพ้นจากภาวะอัตตวิสัยตลอดจนฉันทาคติและอคติของสามัญบุคคลไปได้ จึงได้แต่ขอให้อ่านโดยพิจารณาใคร่ครวญตามเหตุและผลอย่างแยบคาย

๑. ภาวะทั่วไปในปี พ.ศ. ๒๕๓๕

เยอรมันเพิ่งรวมประเทศมาได้ ๒ ปี กรุงเบอร์ลินยังดูหม่นหมองหดหู่ สถานที่ราชการสำคัญ ดังเช่น ทำเนียบรัฐบาล ทำเนียบประธานาธิบดี และสถานทูตประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทย ยังตั้งอยู่ที่กรุงบอนน์ นักเรียนไทยในขณะนั้นมีอยู่ราวหกสิบคน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลและข้าราชการลาศึกษาต่อ แม้ชาวไทยที่อยู่ในเยอรมันจะมีอยู่เป็นจำนวนค่อนข้างมาก แต่การพบปะกันมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่มีศูนย์กลางหรือผู้ประสานงาน แม้วัดไทยก็มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งตามเมืองใหญ่ ดังเช่น เบอร์ลิน มิวนิค บอนน์ เป็นต้น

งานเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคมของทุกปี นับได้ว่าเป็นงานชุมนุมชาวไทยที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมัน โดยมีสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงบอนน์เป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ชาวไทยจากเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งเยอรมัน จะเดินทางมาร่วมงานนี้ แม้นักเรียนทหารจากฮัมบวร์กและมิวนิคก็มาร่วมงานด้วย จึงเป็นโอกาสที่นักเรียนไทยในเยอรมันได้พบปะกันอย่างพร้อมหน้า เพราะแม้แต่งานประชุมสามัญประจำปีของสมาคมนักเรียนไทยฯ ก็ยังมีนักเรียนไทยมารวมตัวกันไม่มากเท่านี้

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยก็ยังแยกเป็นส่วน ๆ กล่าวคือ นักเรียนไทยก็จะพบปะสัมพันธ์เฉพาะกลุ่มนักเรียนไทยด้วยกันเอง ไม่ได้รู้จักกับชาวไทยที่อยู่ในเยอรมันมากนัก และแม้ในหมู่นักเรียนไทย ก็ยังถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนพลเรือนกับนักเรียนทหารอยู่ในระดับค่อนข้างห่างเหิน ในส่วนของนักเรียนทหารนั้น หลักสูตรการศึกษาจำกัดให้อยู่ในค่ายเป็นส่วนใหญ่ และธรรมเนียมแบบทหารนั้นเคร่งครัดตามลำดับอาวุโสรุ่น โอกาสจะพบปะสังสรรค์ของกลุ่มกับบุคคลภายนอกจึงขึ้นกับบุคลิกลักษณะของรุ่นพี่เป็นสำคัญ ในส่วนของชาวไทยเองยังไม่มีการรวมตัวเป็นสมาคมชาวไทยเลย กระทั่งหนังสือพิมพ์ชาวไทย อันมีศิริลักษณ์ ชมิตท์ และ มะลิวัลย์ ซีมอน หรือ “สีมน” เป็นผู้ก่อตั้ง ก็เพิ่งจะเริ่มพิมพ์แจกในปีต่อมา สมาคมนักเรียนไทยฯ ก็พิมพ์จุลสาร “เพื่อนไทย” แจกเฉพาะสมาชิก ซึ่งมีอยู่ราวร้อยคนในยุคนั้น ส่วนสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนก็พิมพ์วารสาร “เพื่อน” แจกเฉพาะนักเรียนนักศึกษาไทยที่อยู่ในความดูแล

๒. สมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๔๖)

ข้าพเจ้ารู้จักสมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ สนทย. เป็นครั้งแรก ราวเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วยการไปร่วมงานกีฬาฤดูร้อนและประชุมสามัญประจำปี ที่เมืองดาร์มชตัด ซึ่งมีการเลือกนายกสมาคมฯ และคณะกรรมการฯ สำหรับปีต่อไป ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พี่สมชาย ชัยเจริญสิน เป็นนายกสมาคมฯ

ขณะนั้นข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนรุ่นเล็ก จำไม่ได้ว่าทำไมถึงได้สมัครเป็นสมาชิกของสมาคมฯ จำได้แต่ว่าไปร่วมงานนี้เพราะอยากจะเจอเพื่อนฝูง และค่าสมัครสมาชิกสมาคมฯ เพียงยี่สิบมาร์กก็ไม่ได้เป็นเงินมากมายอะไรในยุคสมัยนั้น กับการมองว่าเป็นค่าสนับสนุนการทำกิจกรรมของนักเรียนนักศึกษาด้วยกันเอง

ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ณ กรุงบอนน์ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์เป็นเจ้าภาพร่วมกับสนทย. เด็กนักเรียนก็ไปช่วยยกโต๊ะจัดเก้าอี้ทำความสะอาดสถานที่ตามระเบียบ โดยค้างคืนกันที่บ้านของผู้ดูแลนักเรียนซึ่งอยู่ด้านบนของสำนักงานผู้ดูแลฯ นั้นเอง การพักค้างคืนนี้มิได้เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แม้อาหารการกินก็มีถูกจัดเตรียมไว้ตลอดเวลา ถือได้ว่าเป็นความกรุณาส่วนตัวของผู้ดูแลนักเรียน ศรีพนม บุนนาค ในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง

ในงานวันพ่อนี้เอง สนทย. ได้ริเริ่มขายฉลากการกุศล เพื่อรวบรวมเป็นเงินบริจาคไปช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่เมืองไทย โดยการติดต่อขอของบริจาคจากหน่วยงานและร้านค้าต่าง ๆ มีการบินไทยให้ตั๋วเครื่องบินเป็นรางวัลใหญ่ ขายฉลากได้ราวห้าพันมาร์ก ซึ่งถือได้ว่าเป็นเงินจำนวนค่อนข้างมากในยุคนั้น ทั้งนี้ ได้นำเงินรายได้ทั้งหมดไปทำการบริจาคที่เมืองไทย ประเพณีได้ทำติดต่อกันมาอีกหลายปี

คณะกรรมการชุดนี้ถือได้ว่ามีการตื่นตัวทางการเมืองพอควร เพราะในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ นี้เอง ได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้นที่เมืองไทย นักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งได้ไปรวมตัวกันประท้วงการก่อความรุนแรงของรัฐไทยที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ และในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ก็ได้จัดงาน “วันรัฐธรรมนูญ และรำลึก ๖๐ ปี ประชาธิปไตยไทย” ที่มหาวิทยาลัยโยฮัน โวล์ฟกัง เกอเธ่ แฟรงค์เฟิร์ต เมืองแฟรงค์เฟิร์ต โดยมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นองค์ปาฐก

และปีนี้เองที่ได้มีการนำข้อมูลทะเบียนสมาชิกเก็บไว้ในรูปแบบอิเลคทรอนิค ผู้ออกแบบโปรแกรมเป็นนักศึกษาไทยด้านคอมพิวเตอร์ที่กำลังศึกษาอยู่ในเขตไรน์ไมน์ คอมพิวเตอร์ยุคนั้นยังเป็นรุ่น 286 er และใช้ระบบปฏิบัติการดอส โปรแกรมที่ออกแบบเป็นโปรแกรมแบบง่าย ๆ ใช้เก็บข้อมูลสมาชิกทั้งหมด และเพิ่มความสะดวกในการพิมพ์ชื่อที่อยู่ของสมาชิกสำหรับจัดพิมพ์ส่งจดหมายและจุลสารได้

หน้าร้อนของปีถัดมา พี่ตั้ว กอบชัย ภัทรกุลวานิช พี่ใหญ่ของนักเรียนทุนรัฐบาลในขณะนั้น ปัจจุบันกลับไปเป็นอาจารย์ประจำอยู่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ฯ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกฯ ในงานประชุมฤดูร้อนวันนั้น นายแพทย์ธัญญศิลป์ นิมิตธีรภาพ ได้แนะนำสมาคมนักวิชาชีพไทยในยุโรปให้เป็นที่รู้จัก ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ แห่งคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นยังศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบอนน์ได้ตั้งคำถามว่า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสมาคมนักวิชาชีพไทยในยุโรปจักไม่เป็นเพียงสถานที่สำเร็จความใคร่ทางวิชาการของบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น สิบกว่าปีที่ผ่านมาบทบาทและผลงานของสมาคมนักวิชาชีพไทยในยุโรปเป็นอย่างไรคงจะพอมองเห็นได้ไม่ยากนัก อุปสรรคและปัญหาขององค์กรเป็นสิ่งที่น่าใคร่ครวญพิจารณายิ่งนัก

ในปีนี้ กิจกรรมหลักของสนทย. ที่ถือว่าเป็นภาระประจำของคณะกรรมการในแต่ละปี ได้แก่ การจัดงานห้าธันวา งานสัมมนา การออกเพื่อนไทยสามฉบับ และงานกีฬาฤดูร้อนตลอดจนการประชุมสามัญประจำปี ก็ได้จัดอย่างถูกต้องครบถ้วน กรณีร้อนก็เห็นจะมีแต่จดหมายจากคุณสรพงษ์ ลิ้มสุวรรณ เจ้าของร้านอาหารศาลาไทย อดีตนายกสมาคมฯ ในสมัยหนึ่ง เขียนมาตัดพ้อเรื่องขาดการติดต่อสื่อสารจากสมาคมฯ ทำให้กระทั่งข่าวงานประชุมสามัญประจำปีของสมาคมฯ ก็ไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการชี้แจงไกล่เกลี่ยจากหลายฝ่าย คุณสรพงษ์ ก็ได้เขียนจดหมายแสดงความจำนงที่จะรับเป็นผู้บริจาคเงินให้กับสนทย. ปีละห้าร้อยมาร์ก และจากบริษัทเบียร์สิงห์อีกปีละหนึ่งพันมาร์ก จดหมายลายมือคุณสรพงษ์นี้ ข้าพเจ้าได้เห็นด้วยตาตนเอง แต่ข้อบกพร่องในการจัดเก็บและส่งต่อเอกสารทำให้จดหมายฉบับนี้สูญหายไปในที่สุด การบริจาคนี้อยู่ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๓๙

ในฤดูร้อนของปีพ.ศ. ๒๕๓๗ ภายหลังการประชุมสามัญประจำปีเสร็จสิ้น โดยอาจารย์สัญชัย พันธโชติ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกฯ ในที่ประชุมกรรมการสมาคมครั้งแรกก็มีวิวาทะระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและชุดใหม่ จำได้ว่าพี่เอก ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตเลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยยุคพฤษภาทมิฬ ได้เข้ามานั่งฟังด้วย ในยุคนั้นเขาเป็นคนพูดน้อยจนถึงไม่พูดเลยด้วยซ้ำ และแม้ผลการประชุมจะจบลงเรียบร้อยด้วยความพยายามไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจจากหลายฝ่าย แต่ก็เป็นเหตุให้การทำกิจกรรมของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ถูกจับตามองในแทบทุกเรื่อง แม้กระทั่งพฤติกรรมสูบบุหรี่หรือดื่มสุราของกรรมการบางคนก็ถูกตั้งแง่เป็นข้อรังเกียจได้

นอกเหนือการขายฉลากการกุศลดังที่เคยทำต่อเนื่องกันมาในงานเฉลิมพระชนมพรรษาห้าธันวาแล้ว ในปีนี้อำนาจ เจริญพักตร์ได้ริเริ่มความคิดในการหาเงินเข้าสมาคมฯ นอกเหนือจากการขอเงินบริจาคแต่เพียงอย่างเดียว โดยการออกแบบเข็มกลัดตราสมาคมฯ ทั้งนี้เข็มกลัดร้อยชิ้น ชิ้นละสิบมาร์ก มีผู้สนับสนุนซื้อจนหมดภายในคืนเดียว ทางสมาคมฯ จึงได้จัดทำเสื้อยืดหาเงินเข้าสมาคมฯ เพื่อเป็นทุนรอนในการทำกิจกรรมของคณะกรรมการฯ ปีต่อไป ทั้งนี้ถือได้ว่าเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมความเชื่อที่ว่า ไม่ควรจะเก็บเงินไว้ในบัญชีของสมาคมฯ เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นโอกาสที่อาจจะมีการฉ้อโกงทรัพย์สินขึ้นมาได้ อย่างไรก็ดี แนวคิดการหาเงินเป็นทุนรอนในการทำกิจกรรมสำหรับคณะกรรมการฯ ปีต่อไปนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการจัดกิจกรรมที่ผ่านมา กรรมการแต่ละคนต้องใช้จ่ายเงินส่วนตัวออกไปจำนวนไม่น้อย ก่อนที่จะขอเบิกจ่ายได้ในภายหลัง เพราะสมาคมฯ ยังไม่สามารถหาเงินบริจาคมาไว้ในบัญชีได้เพียงพอกับรายจ่าย

เรื่องวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการฯ ในสมัยอาจารย์สัญชัยยังมีปลีกย่อยอีกมาก แต่เป็นเรื่องจับผิดปรกติธรรมดา เพราะในยุคสมัยนั้นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับสนทย. ล้วนแล้วแต่มีอายุเฉลี่ยยี่สิบปีทั้งสิ้น ยังไม่บรรลุเบญจเพศเลยด้วยซ้ำ ในยุคนั้นยังถือว่านักศึกษาปริญญาเอกไม่ควรทำกิจกรรม เพราะจำเป็นจะต้องทุ่มเวลาให้กับการศึกษาอย่างเต็มที่ เลยกลายเป็นว่านักเรียนรุ่นเล็กที่กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยต้องกลายเป็นกำลังสำคัญในการทำกิจกรรม นักศึกษาเหล่านี้ ซึ่งหมายรวมไปถึงข้าพเจ้าด้วย ล้วนแต่ขาดประสบการณ์ในการทำกิจกรรม เพราะต้องจากเดินทางจากบ้านมาเรียนในต่างแดนตั้งแต่อายุน้อย วุฒิภาวะทางอารมณ์และปัญญายังอยู่ในระยะที่ห่างไกลกับความเป็นผู้ใหญ่มากนัก ข้อบกพร่องในการทำงานกิจกรรมเห็นจะเป็นทัศนคติที่ถูกต้องในการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งการตีความหมายของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ดังนั้นการทำกิจกรรมที่มุ่งผลสำเร็จของงานมากกว่าสัมพันธภาพระหว่างบุคคลจึงยากที่จะก่อบรรยากาศของมิตรภาพขึ้นมาโดยรวมได้

หน้าร้อนของปีพ.ศ. ๒๕๓๘ ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ร่วมงานประชุมสามัญประจำปี เพราะเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย กลับมาก็ต้องรู้สึกปวดหัวอย่างยิ่งที่ทราบข่าวว่าพี่เมธา คาห์ลได้รับเลือกตั้งเป็นนายกฯ ที่ปวดหัวเพราะพี่เมธานั้นอยู่เมืองเดียวกันกับข้าพเจ้า ตัวข้าพเจ้ากับเขาเองนั้นรักและนับถือกันว่าเป็นพี่น้องนอกไส้ เที่ยวเล่นหัวหกก้นขวิดกันแต่ไหนแต่ไรมา พี่เมธาทำท่าจะให้ข้าพเจ้ารับหน้าที่สาราณียกรอีกครั้ง ซึ่งข้าพเจ้าปฏิเสธเด็ดขาดที่จะทำหน้าที่เดิม และไม่ยินยอมรับตำแหน่งหน้าที่ใดทั้งสิ้น

ถึงกระนั้นก็ตามด้วยความรักและโมโหพี่ชายที่รักยิ่งที่รับตำแหน่งนายกฯ มาหลายเดือนยังหากรรมการมารับตำแหน่งจนครบไม่ได้ เพราะพี่เมธานั้นไม่ได้เป็นนักศึกษา สนิทสนมก็แต่นักศึกษารุ่นพี่สมชาย เมื่อไปติดต่อให้รุ่นพี่มารับตำแหน่งกรรมการสมาคมฯ อีกครั้งจึงไม่มีใครรับตำแหน่ง เพราะต่างก็อยากจะให้รุ่นน้องได้ทำงานกิจกรรม เมื่อจะติดต่อนักศึกษารุ่นเด็กจึงต้องเป็นธุระผ่านข้าพเจ้า ดีที่ตำแหน่งสาราณียกร ไกรสร ชัยซาววงศ์ ยินดีรับหน้าที่ไปทำ ซึ่งเขาทำหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง ทั้งที่เขายังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้เป็นส่วนตัว มีกองบรรณาธิการเพียงตัวเขาคนเดียว ก็สามารถจัดทำจุลสารออกมาจนครบสี่เล่ม เล่มที่ดีที่สุดของเขาเห็นจะเป็นเล่มสุดท้าย ที่เขาลงทุนบินไปสัมภาษณ์ผู้หญิงไทยที่มาขายบริการทางเพศที่ฮัมบวร์กด้วยตนเอง แม้กระทั่งกรรมการบันเทิง อภิวัฒน์ เล็กอุทัย ก็ได้จัดเตรียมงานราตรีพี่น้อง ซึ่งเป็นงานสังสรรค์กลางคืนภายหลังการประชุมสามัญประจำปีได้อย่างดียิ่ง โดยที่งานราตรีพี่น้องนี้จัดอย่างเป็นงานใหญ่ทีเดียว มีผู้ร่วมงานราวสองร้อยกว่าคน โดยจัดที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัยคาร์หสรูห์ มีการขายบัตรเข้าร่วมงานล่วงหน้าให้กับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่นักศึกษา อภิวัฒน์และไกรสรเป็นหัวเรือใหญ่ในการติดต่อขอใช้สถานที่กับทางมหาวิทยาลัย ขอความสนับสนุนจากร้านอาหาร ได้อาหารมาให้ผู้ร่วมงานอย่างเพียงพอ ทั้งยังวิ่งขายบัตรเสียจนหมดเกลี้ยง ที่เหนื่อยมากเห็นจะเป็นคณะกรรมการฯ ซึ่งมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว แต่ปรากฎว่ามิตรเก่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาไทยเมืองอาเคนและบอนน์ก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยช่วยดูแลทั้งแผนกอาหาร เครื่องดื่ม ข้าพเจ้าจำสุภาวดี มนต์สถาพรได้แม่นก็งานนี้ เพราะเธอเดินมาถามว่ายินดีจะให้ช่วยเหลืออะไรบ้างไหม หลายปีต่อมาสุภาวดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากในเครือข่ายนักเรียนนักศึกษาไทยแถบชตุตการ์ตและเมื่อเธอได้รับตำแหน่งอุปนายกสนทย. ในปีพ.ศ. ๒๕๔๕ ก็เป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างสนทย. และนักศึกษาไทยในชตุตการ์ตในการจัดงานประชุมวิชาการนักเรียนไทยครั้งแรกในยุโรป ทั้งยังเป็นหนึ่งในบรรณาธิการร่วมกับพรนภัส โตรัสในการปรับปรุงและจัดทำหนังสือ “เรียนเยอรมนี” ในนามของสนทย.

หลังจากงานเสร็จสิ้น ข้าพเจ้าก็ยังนับถือเป็นพี่เป็นน้องกับพี่เมธาอยู่ดี เพราะถึงแม้เขาจะเป็นนายกฯ ที่ไม่เอาไหนนักในความเห็นของข้าพเจ้า แต่เขาก็ลำเอียงรักข้าพเจ้านัก และดูเหมือนจะเป็นพี่ที่ดีของข้าพเจ้ายิ่งกว่าข้าพเจ้าที่เป็นน้องเกเรสำหรับเขา ทั้งเขาได้ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นพลังของการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันของทีมงานที่ปราศจากเขา แม้ทีมงานนั้นจะประกอบไปด้วยนักศึกษารุ่นเด็กก็ตาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าหากเขาเป็นนายกฯ ที่เก่งกาจมาก คนอย่างอภิวัฒน์และไกรสรก็คงขาดโอกาสที่จะเปล่งศักยภาพของตนเองออกมาอย่างเต็มที่

กระแสการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยในปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ได้แผ่มาถึงเยอรมนี ในวันที่ ๕ – ๖ เมษายน ปีนี้เองกลุ่มนักเรียนไทยแถบลุ่มแม่น้ำรัวห์ นำโดยพี่เปี๊ยก บรรเจิด สิงคะเนติ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้เดินทางไปพบปะเยี่ยนเยียนนักศึกษาไทยเมืองเกิ๊ททิงเงนซึ่งมี ปริญญา เทวานฤมิตรกุลเป็นหัวเรือใหญ่ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีการตั้งเป้าหมายและวางแผนการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่จุดหมายแห่งการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักเรียนไทย และสร้างสรรค์กิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกัน การพบปะนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดงานสัญจรสานสัมพันธ์ การเดินทางไปพบปะสร้างสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเมืองต่าง ๆ เช่นโบคุ่ม ซาร์บรึคเคน เกิ๊ททิงเงนซึ่งถึงแม้จะเป็นกิจกรรมที่มิได้อยู่ภายใต้นโยบายของสนทย. นายกสมาคมฯ คือ โอภาส ตรีทวีศักดิ์ ก็ให้ความสนับสนุน และไปร่วมด้วยทุกครั้ง

germany02

ปีพ.ศ. ๒๕๔๐ นี้นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของทัศนคติในการทำกิจกรรมของนักศึกษาปริญญาเอกเลยทีเดียว บรรเจิด สิงคะเนติเป็นหัวหอกคนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ว่า นักศึกษาเรียนปริญญาเอกไม่ควรทำกิจกรรม เขาตั้งคำถามว่านักศึกษาปริญญาเอกซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า จะเฉยชาปล่อยให้นักศึกษารุ่นเล็กที่ขาดประสบการณ์ทำกิจกรรมแต่ฝ่ายเดียวไปได้อย่างไร ทั้งยังต้องสร้างสัมพันธภาพระหว่างกันให้มากที่สุด เพราะปัญหาสำคัญระหว่างนักศึกษาทั้งสองกลุ่มก็คือช่องว่างระหว่างวัย ความสนใจจึงค่อนข้างแตกต่างกันมาก ดังเช่น กลุ่มหนึ่งตั้งวงสนทนาคุยเรื่องการเมือง อีกกลุ่มคุยเรื่องสนุกสนาน รุ่นใหญ่ดื่มเมรัยในขณะที่รุ่นเยาว์ไม่ดื่ม และแม้เมื่อมีกีตาร์เป็นสื่อ วงหนึ่งก็ถนัดเพลงเพื่อชีวิต อีกวงถนัดเพลงร่วมสมัย เป็นต้น โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ใหญ่อยู่หลายปี ปัญหานี้จึงเบาบางลงไปได้บ้าง

ผลของการพบปะได้ก่อให้เกิดการเสวนาว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญใหม่และสิทธิเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศอีกสองครั้ง ที่สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน กรุงบอนน์ ซึ่งขณะนั้น ทัศนีย์ ธรรมสิทธิ์ เป็นผู้ดูแลนักเรียน และได้มีการยื่นร่างข้อเสนอเรื่องสิทธิเลือกตั้งของประชาชนไทยในต่างประเทศ โดยมีปนัดดา เรืองดารกานนท์ และปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นตัวแทนยื่นต่ออานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการพิจารณาแปรญัตติเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ทั้งยังส่งตัวแทนคือ ปริวรรต กนิษฐะเสน ยื่นจดหมายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่ออุทัย พิมพ์ใจชน อีกด้วย

นายกสมาคมฯ คนถัดมาคือพี่อุ๊ เรียงศักดิ์ ชูบ้านนา ซึ่งยังให้ความสนับสนุนกิจกรรมสัญจรสานสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มสัญจรสานสัมพันธ์เองก็ได้ออกจุลสาร “ภราดรสาร” ออกมาประดับบรรณพิภพอีกเล่ม แต่น่าเสียดายที่มีอายุอยู่ไม่ยืนยาวนักออกมาได้สองสามฉบับก็ต้องปิดตัวลง ในยุคนี้เริ่มมีการจัดทำเว็บไซต์ขึ้นแล้ว ผู้จัดทำเว็บไซต์คนแรกของสมาคมฯ ก็คือ ไพบูลย์ ช่วงทอง มิตรสนิทของเรียงศักดิ์นั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงในการขายสลากการกุศลเพื่อหาเงินบริจาคไปช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสในเมืองไทยในปีนี้ก็คือ เงินรายได้จากการขายสลากจะถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเงินบริจาค อีกส่วนเข้าสมาคมฯ ข้าพเจ้ารู้สึกไม่เห็นด้วยนัก เนื่องจากจุดมุ่งหมายของการทำกิจกรรมสมาคมฯ ไม่ควรเป็นไปเพื่อการค้า ทั้งสมาคมฯ ก็มีช่องทางหารายได้จากทางอื่นได้อีก และก็ไม่ได้ประกาศตอนขายสลากว่าเงินส่วนหนึ่งจะถูกนำเข้าสมาคมฯ อย่างไรก็ดี คนซื้อสลากก็ไม่ได้มีทีท่าจะสนใจว่าเงินจากการขายสลากจะถูกนำไปทำอะไร ส่วนใหญ่ก็ซื้อเพราะมุ่งหวังรางวัลตั๋วเครื่องบินกลับเมืองไทยอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องจัดการกับเงินขายสลากจึงเป็นเรื่องของผู้ขายอย่างแท้จริง

หน้าร้อนปีถัดมาพี่นพ นพดล คุ้มอนุวงศ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ โดยมีวิน ปริวรรต กนิษฐะเสน เป็นเหรัญญิก และพี่แฟรงค์ วีระพรรณ รังสีวิจิตรประภา เป็นผู้จัดทำเว็บไซต์ของสมาคมฯ ปัจจุบันปริวรรตประจำอยู่ธนาคารชาติ ส่วนวีระพรรณเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ข้าพเจ้าได้รับปากพี่นพในการรับหน้าที่เป็นนายทะเบียน เพราะถือว่าเป็นหนี้พี่นพเมื่อครั้งที่พี่นพทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งระหว่างข้าพเจ้ากับพี่ตั้ว กอบชัย ภัทรกุลวณิช เมื่อหลายปีก่อน ทั้งได้ตั้งใจจะจัดระเบียบทะเบียนสมาชิกให้อยู่ในโปรแกรมจัดการฐานข้อมูลให้เป็นที่เรียบร้อย

แม้ข้าพเจ้าจะได้จัดการนำข้อมูลไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลแล้ว แต่กลับทำให้การจัดการฐานข้อมูลสำหรับนายทะเบียนคนต่อไปไม่ใช่ของง่าย เพราะเงื่อนไขของการใช้โปรแกรมจัดการฐานข้อมูลก็คือ นายทะเบียนจำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ใช้ มีความรู้ในการใช้โปรแกรมจัดการฐานข้อมูลพอควร และยังต้องถือศีลอย่างเคร่งครัดในการที่จะไม่ทำสำเนาข้อมูลเก็บไว้ภายหลังจากหมดวาระการทำงาน ทั้งยังไม่ควรให้ผู้อื่นที่มิใช่นายทะเบียนได้เห็นข้อมูลของสมาชิกในคลังข้อมูลอีกด้วย เพราะถือว่าสมาชิกได้ให้ความไว้วางใจให้ข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และที่อยู่ไปรษณีย์อิเลคทรอนิค ซึ่งช่วงหลังรวมไปถึงข้อมูลด้านการศึกษา ให้แก่สมาคมฯ เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์การดำเนินงานของสมาคมฯ เท่านั้น อย่างไรก็ตามศีลข้อนี้ของนายทะเบียนขึ้นกับความเข้าใจเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นเป็นสำคัญ

วีระพรรณก็ทำหน้าที่ผู้จัดทำเว็บไซต์ได้อย่างดียิ่ง ถึงแม้จะดูวุ่นวายมากขึ้นในช่วงหลัง เพราะจำนวนลิงก์มากขึ้น แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเว็บไซต์ของสมาคมฯ เสียเลย ทั้งยังได้เป็นผู้จัดทำเมลลิงลิสต์ของสมาคมฯ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อใช้ในการส่งข่าวสารระหว่างสมาชิก อย่างไรก็ดีข้อขลุกขลักในการใช้เมลลิงลิสต์ก็คือ การนำอีเมลของสมาชิกไปใส่ไว้ในเมลลิงลิสต์เลย โดยมิได้ขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรแต่แรก ทำให้สมาชิกหลายคนไม่พอใจ แต่ทั้งนี้เป็นข้อจำกัดด้านความรู้ทางเทคนิคในยุคนั้น เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในการจัดการอีเมลและการที่จะให้สมาชิกสมัครเข้ามาใช้งานเมลลิงลิสต์เองออกจะเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า ขณะเดียวกันจุดมุ่งหมายของเมลลิงลิสต์ก็เพื่อให้การติดต่อข่าวสารระหว่างสมาชิกเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ดังนั้นการนำอีเมลของสมาชิกไปใส่ไว้ในเมลลิงลิสต์จึงพออนุโลมได้ว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิกเป็นสำคัญ มากกว่าจะเป็นการนำอีเมลของสมาชิกไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง แม้ในการกลั่นกรองข่าวสารที่ส่งผ่านเมลลิงลิสต์โดยผู้จัดการเมลลิงลิสต์เอง วิจารณญาณของผู้กลั่นกรองบางครั้งก็ไม่อาจนำความพึงพอใจมาให้กับสมาชิกทุกคนได้ มาตรฐานหรือกติกาที่ชัดเจนในการใช้เมลลิงลิสต์ก็ยังไม่ปรากฎ

งานนายทะเบียนและผู้จัดทำเว็บไซต์ถือได้ว่าเป็นงานชนิดที่ผู้รับหน้าที่จำเป็นต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง การเลือกผู้รับตำแหน่งนายทะเบียนและผู้จัดทำเว็บไซต์ในช่วงหลังจึงต้องเฟ้นหาผู้มีความรู้ด้านนี้เป็นสำคัญ

ในช่วงปีนี้ไม่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการจัดการรายได้จากการขายสลากการกุศล เนื่องจากทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ ขณะนั้นกษิต ภิรมย์เป็นเอกอัครราชทูตประจำอยู่ ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายในการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาห้าธันวา จากเดิมซึ่งสมาคมนักเรียนไทยฯ เป็นผู้ขายสลาก และนำเงินไปบริจาคที่เมืองไทย สถานเอกอัครราชทูตจะเป็นผู้จัดงานเองทั้งหมด สมาคมนักเรียนไทยฯ ได้ถูกลดบทบาทลงไปอย่างสิ้นเชิง และได้แต่เพียงจัดการแสดงของนักศึกษากลุ่มเมืองต่าง ๆ เข้าร่วมเท่านั้น ในงานนี้ปรากฎว่าสถานเอกอัครราชทูตมีรายได้ถึงหมื่นกว่ามาร์ก เงินส่วนหนึ่งได้มอบให้กับสมาคมฯ อีกส่วนหนึ่งนำไปบริจาคที่เมืองไทย ข้าพเจ้ามานั่งนึกดู เดิมที่สมาคมนักเรียนไทยฯ ขายสลากการกุศลเพื่อหาเงินบริจาคก็เป็นสิ่งที่ใครเห็นดีและให้ความสนับสนุน ครั้นเมื่อเปลี่ยนนโยบายเป็นหาเงินส่วนหนึ่งเข้ากระเป๋าตัวเอง ก็ไม่เป็นการแปลกที่ผู้อื่นจะมองว่าเป็นช่องทางในการหารายได้ของเขาเช่นกัน ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเขามีศักยภาพที่จะหาเงินได้มากกว่า และยังแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเป็นเงินบริจาคจำนวนพอ ๆ กับที่สมาคมนักเรียนไทยฯ เคยบริจาค ทั้งนักศึกษาก็ไม่ต้องลงแรงเหมือนเดิม ในเมื่อเด็กทางเมืองไทยก็ได้เงินบริจาค เราก็ไม่เห็นจะต้องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร ปัญหาที่ต้องขบคิดก็คือ บทบาทของนักศึกษาไทยในการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมควรจะเป็นอย่างไร ความหมายของการจัดงานห้าธันวาคืออะไร เป็นโจทย์ในการจัดกิจกรรมหรือเป็นงานหารายได้ หากยังคิดว่างานห้าธันวาเป็นงานเดียวที่สามารถหารายได้มาสนับสนุนการทำกิจกรรมของทุกปี เป็นไปได้ไหมที่จะจัดด้วยตนเอง หรือหากยังคิดว่างานบริจาคเป็นงานสำคัญ นักศึกษาจะทำอะไรที่มีความหมายได้มากกว่าที่คนอื่นทำ

นพดลเป็นนายกฯ ที่ดูแลผลประโยชน์ของสมาคมฯ ได้อย่างดียิ่ง แต่ดูแลกรรมการฯ และคนทำงานได้แย่นัก ข้าพเจ้ากล้าพูดเช่นนี้ เพราะเหลืออดในการจัดงานราตรีพี่น้องนั่นเอง มีอย่างที่ไหน ข้าพเจ้ารับหน้าที่เตรียมเครื่องดื่ม ขายน้ำ เตรียมสไลด์แสดงประวัติและผลงานสมาคมฯ แถมยังขอให้พี่และน้องเตรียมการแสดง ก็บังคับว่าข้าพเจ้าและผู้ที่ข้าพเจ้าขอมาช่วยงานต้องจ่ายเงินค่าบัตรร่วมงาน ข้าพเจ้าโกรธเสียจนเดินเข้าไปแบบชักดาบดื้อ ๆ อย่างนั้นนั่นแหละ พี่สาวคนหนึ่งตัดปัญหาโดยการจ่ายค่าบัตรร่วมงานให้คนห้าคน ก่อนจะเดินเข้ามาเตรียมงาน ข้าพเจ้าฉุนเสียจนไม่ยอมรับคำเชิญไปรับประทานอาหารงานเลี้ยงขอบคุณกรรมการที่เขาเสนอจัดที่เคลาส์ทาลหลังจากนั้น เพราะถือว่าอยู่ที่บ้านก็มีคนทำให้รับประทาน แต่ข้าพเจ้าก็ยังมิได้เลิกนับพี่นับน้องกับเขา ยังขอให้เขาช่วยทำเว็บไซต์ส่วนหนึ่งของสมาคมฯ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งในปีถัดมา

เมื่อพี่โด่ง สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาสาวจากกระทรวงยุติธรรม ได้รับตำแหน่งนายกสมาคมฯ เธอก็ได้เชิญให้วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา รับตำแหน่งอุปนายกด้วย โดยเหตุที่ว่าแม้จะเป็นคู่แข่งขัน แต่ในเมื่อได้เสนอตัวที่จะทำงานกิจกรรม ย่อมทำงานร่วมกันได้ แม้จะคิดต่างกันก็ตาม ทัศนคติข้อนี้มีผลกระทบต่อข้าพเจ้ายิ่งนัก เพราะข้าพเจ้าเคยเชื่อว่างานจะออกมาเป็นผลสำเร็จได้ ผู้ร่วมงานจำเป็นต้องมีวิถีคิดใกล้เคียงกัน ยิ่งขนาดมองตาก็รู้ใจ ไม่ต้องอธิบายกันมาก น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เมื่อพิจารณาดูทฤษฎีของข้าพเจ้านั้นใช้ได้ดีในภาวะอุดมคติเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง ผู้คนล้วนมีความแตกต่าง และเราไม่อาจเลือกที่จะทำงานกับคนที่คิดเหมือนเราได้เสมอไป และหนทางของการอยู่ร่วมในการแตกต่างคือการยอมรับซึ่งกันและกัน มิใช่การเขี่ยคนที่คิดไม่เหมือนกันออกไปให้พ้นทาง ทั้งการมีผู้มองต่างมุมมากขึ้น ย่อมทำให้มุมในการมองกว้างขวางและรอบคอบขึ้น ซึ่งวีระพันธ์ได้แสดงให้เห็นในหลายครั้งแล้วว่า เขาสามารถคิดในสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดไม่ได้ ดังเช่น ชื่อของเมลลิงลิสต์สมาคมฯ ในปัจจุบัน ThaiStudentsInGermany@yahoogroups.com เขาก็เป็นคนเสนอ หรือทัศนคติที่ว่านักศึกษาควรจะทำกิจกรรมร่วมกับชาวไทยในเยอรมันบ้าง ก็เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคิดของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ารับทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ของสมาคมฯ ต่อจากวีระพันธ์ และโดยเหตุที่เขาเป็นผู้ริเริ่มในการทำเว็บไซต์และเมลลิงลิสต์ของสมาคมฯ แต่แรก จึงค่อนข้างจะเจ็บปวดไม่น้อยเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น สุนทรียาต้องทำหน้าที่อย่างหนักในการทำตัวเป็นรัฐกันชนระหว่างวีระพันธ์และข้าพเจ้า ส่วนเว็บไซต์สมาคมได้เปลี่ยนที่อยู่ในภายหลังมาเป็น http://www.thai-students.de โดยความอุปถัมภ์จากสายสุดา โพห์ล เว็บมาสเตอร์แห่งเว็บไซต์ไทยไลฟ์ เว็บไซต์ท่าแห่งแรกของชุมชนชาวไทยในเยอรมัน

ในปีพ.ศ. ๒๕๔๒ นี้ สถานเอกอัครราชทูตไทย ได้ย้ายไปอยู่ ณ กรุงเบอร์ลิน สุนทรียาจึงคิดที่จะจัดงานห้าธันวาที่เบอร์ลิน เพื่อไปแนะนำตัวสมาคมฯ ให้กับชาวไทยในเบอร์ลินให้เป็นที่รู้จัก อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตไทยไม่มีนโยบายจัดงานร่วมกับสมาคมนักเรียนไทยในปีนี้ และไม่สามารถหาสถานที่จัดงานได้ แต่มีสถานที่จัดงานที่บอนน์ จึงได้กลับมาจัดที่บอนน์เหมือนทุกปี

สุนทรียายังต้องฝ่าด่านอนุรักษ์นิยมในคณะกรรมการฯ อีกด่าน ในข้อที่ว่าเงินรายได้จากการขายสลากการกุศลจะไม่เป็นเงินบริจาคทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า การพัฒนาคุณภาพและศักยภาพนักเรียนไทยในกลุ่มของพวกเราเป็นเรื่องที่ต้องมาก่อนการนำเงินไปบริจาค กิจกรรมในปัจจุบันจึงมีจำนวนมากมายและหลากหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการออกจุลสารสี่ฉบับ งานกีฬาฤดูร้อน งานกีฬาระหว่างนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสและเยอรมันที่ปารีส และงานเสวนาอีกสามสี่ครั้งที่บอนน์ เบอร์ลิน ฮัมบวร์ก มึนสเตอร์ เป็นต้น ทั้งการบริจาคก็จะไม่ทำเหมือนเดิมเพียงแค่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร แต่จะจัดกิจกรรมให้เพื่อนนักศึกษาไทยที่เดินทางกลับไปร่วมกับนักศึกษาไทยที่ศึกษาจบไปแล้วได้พบปะทำกิจกรรมบริจาคร่วมกัน คือเดินทางไปหาผู้รับบริจาคด้วยตนเอง จะได้ไปสัมผัสและมีประสบการณ์ตรง อนุสนธิของกิจกรรมลักษณะนี้ก็คือ กรรมการที่รับหน้าที่ดำเนินงานอย่าง ปิลัญญา นิยมไทย นักเรียนทุนรัฐบาลกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับอดีตนักเรียนไทยในเยอรมันที่ขณะนั้นกลับเมืองไทยแล้ว อย่างบรรเจิด สิงคเนติ ปริวรรต กนิษฐเสน เป็นต้น ต้องเดินทางครึ่งวัน ข้ามห้วยสามห้วย ไปดูโรงเรียนที่เป็นโรงเรือนหลังคามุงจาก เมื่อกลับมาจากเมืองไทย ก็ร่วมกับมิตรสหายจัดทำเว็บไซต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความยากไร้ขาดแคลนและด้อยโอกาสของเด็กในโรงเรียนที่เธอไปสัมผัสมา ทั้งเป็นการทำโดยสมัครใจ มิได้อยู่ในนโยบายสมาคมฯ แต่อย่างใด

การเดินทางไปปารีสเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสและเยอรมันนั้นมีกั้ง เศรษฐลัทธิ์ แปงเครื่อง เป็นหัวแรงสำคัญในการติดต่อประสานงาน และเขาทำหน้าที่นี้ได้ดียิ่ง แม้จะเป็นกรรมการที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น แต่เดิมรุ่นพี่สมัยก่อนได้ทำกิจกรรมระหว่างประเทศบ่อยครั้ง แต่ก็ขาดหายไป เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ทราบจากศิษย์เก่าบางคน จึงได้รื้อฟื้นกิจกรรมนี้ขึ้นมาใหม่ งานนี้ได้กลายเป็นงานประเพณีพบปะของนักเรียนไทยในยุโรปซึ่งมีผู้มาร่วมงานเป็นหลักร้อยในปีถัด ๆ มา

ค่ายการเมืองก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สุนทรียาเสนอให้จัด โดยมีปริญญา เทวานฤมิตรกุลเป็นหัวแรงคนสำคัญ ทั้งในงานนั้นก็มีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์มาเป็นองค์ปาฐก แม้จะมีผู้ตั้งคำถามก่อนหน้าว่า นักศึกษาหรือสมาคมนักเรียนไทยฯ ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ และควรจะเสวนาร่วมกับสุลักษณ์ผู้ซึ่งถูกหมายหัวว่าอาจจะปลุกปั่นยุยงให้นักศึกษามีความคิดรุนแรงทางการเมืองหรือไม่ แม้บิดาข้าพเจ้ายังโทรศัพท์มาปรามว่าอย่าไปฟังสุลักษณ์ให้มาก แล้วก็ถามว่าเขาพูดอะไรบ้าง ข้าพเจ้าก็ตอบโดยซื่อว่า สุลักษณ์บอกอย่าได้เชื่อเขา

กิจกรรมนี้ก็จัดขึ้นที่บอนน์ และแม้จะมีผู้ร่วมงานเพียงสามสิบกว่าคน แต่เป็นสามสิบกว่าคนที่สำคัญยิ่ง หลายคนในนั้นมีบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจกรรมนักศึกษาเยอรมันในช่วงถัดมา ดังเช่น ปริญญา เทวานฤมิตรกุลนั้นเป็นนายกสมาคมฯ สมัยถัดมาติดกันสองสมัย จารุพรรณ กุลดิลก ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการจัดงานห้าธันวาและงานกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนไทยในฝรั่งเศสและเยอรมันที่แบร์ลินในปีถัดมา ปิลัญญา นิยมไทยอุปนายกในปีถัดมาก็เดินทางมาร่วมงานจากไฮเดลแบร์ก จิรวดี ขาวอ่อน อุปนายกในสองปีถัดจากนั้น ขณะนั้นกำลังศึกษาที่ฟรายบวร์กก็ยังนั่งรถไฟราวหกชั่วโมงกว่ามาร่วมงานด้วย

หนังสือ “เรียนเยอรมัน” ได้จัดพิมพ์สำเร็จเป็นครั้งแรกในปีนี้นั่นเอง เป็นการรวบรวมข้อมูลทางการศึกษา บทความจากนักศึกษาไทยในเยอรมันตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งปรากฎในเว็บไซต์ “เรียนเยอรมัน” ที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์สมาคมฯ ในปีเดียวกัน

ข้าพเจ้าอาจจะมีฉันทาคติอยู่มากสักหน่อยกับการทำงานกิจกรรมในปีนี้ และถึงแม้จะเป็นพวกขี้เกียจ ทำงานก็เฉพาะในส่วนของตน ไม่ได้เป็นแรงงานในการทำกิจกรรมอันมีอย่างหลากหลายในคณะกรรมการฯ สมัยนี้ แต่ข้าพเจ้าก็มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า (๑) การได้จัดงานห้าธันวาเป็นครั้งแรกด้วยตนเอง โดยมิต้องพึ่งพาฉันทามติจากสถานเอกอัครราชทูตดังแต่ก่อน แสดงให้เห็นว่า นักเรียนไทยมีความเป็นตัวของตัวเองและเป็นอิสระจากการถูกปกครองโดยผู้ใหญ่มากขึ้น (๒) การได้จัดงานร่วมกับชาวไทยในเยอรมัน โดยเห็นความสำคัญว่าเราจำเป็นต้องเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างกัน มิใช่แบ่งแยกว่าเป็นนักเรียนหรือแม่บ้าน (๓) ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาไทยในประเทศอื่น ทำให้เห็นว่ามิใช่เรื่องพ้นวิสัยที่จะทำได้ (๔) การจัดค่ายการเมืองได้ลบล้างอคติเดิมเกี่ยวกับการเมือง สร้างความตระหนักรู้และรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ทั้งในฐานะปัญญาชนและคนหนุ่มสาวที่มีต่อบ้านเมือง (๕) การเพิ่มความหมายของการบริจาค ที่มิใช่เพียงแต่การหาเงินไปให้ผู้ยากไร้ แต่ต้องเต็มไปด้วยสำนึกตระหนักรู้ถึงเหตุและผล และเข้าใจความจริงโดยการรับรู้โดยตรง

เหล่านี้ ได้สร้างความหมายใหม่ของการทำกิจกรรมนักศึกษา และทำให้นักศึกษาไทยซึ่งขณะนั้นมีจำนวนมากถึงสองร้อยกว่าคน มีความกระตือรือล้นและเห็นประโยชน์ของการทำกิจกรรมพบปะ ได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างและมีความมั่นใจในศักยภาพของตนเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้เอง ได้มีการรวมกลุ่มก่อตั้งสมาคมนักเรียนไทยในเมืองอาเคน เคลาส์ทาล ฮันโนเฟอร์ กลุ่มนักเรียนไทยในชตุตการ์ต และกลุ่มนักเรียนไทยในไฮเดลแบร์ก-คาร์สรูห์-มันไฮม์ เพราะในเมืองเหล่านี้เริ่มมีนักศึกษาไทยมาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก แต่ละกลุ่มได้จัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มของตนขึ้นมา งานใหญ่ที่สุดก็คือ งาน BaW ในปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งนักศึกษาไทยในชตุตการ์ตเป็นเจ้าภาพ จัดงานพบปะสังสรรค์ระหว่างนักศึกษาไทยในเยอรมันในเขตบาเดนเวือร์ทเทมแบร์ก ซึ่งมีผู้มาร่วมงานถึงแปดสิบกว่าคน

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นายกสมาคมฯ ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๔๓ – ๒๕๔๕ ต้องเผชิญกับภาวะปัญหาเรื่องการสร้างความรู้สึกร่วมของนักเรียนไทยในกลุ่มเมืองต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า จำนวนนักเรียนไทยที่มาศึกษาต่อในเยอรมันได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชตุตการ์ตมีนักศึกษาราวสี่สิบคน อาเคนราวสี่สิบคน ฮันโนเฟอร์ราวยี่สิบคน นักศึกษาไทยแต่เดิมจะรู้จักเพื่อนจากการมาร่วมงานกิจกรรมของสมาคมฯ แต่เมื่อกลุ่มเมืองมหาวิทยาลัยที่เขาศึกษาอยู่มีกลุ่มนักเรียนไทยที่รวมตัวกันอยู่หนาแน่นอยู่แล้ว และสามารถทำกิจกรรมในกลุ่มได้เอง ทั้งเขาไม่รู้จักความเป็นมาและเป้าหมายวัตถุประสงค์ของสมาคมนักเรียนไทยฯ จึงทำให้เขาไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นในการเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมฯ นอกเหนือจากนี้ นักศึกษาไทยส่วนใหญ่มาศึกษาด้วยทุนส่วนตัว การเดินทางไปร่วมกิจกรรมในเมืองอื่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็เป็นข้อจำกัดสำคัญยิ่งที่จะทำให้เขาเหล่านั้นยินดีมาร่วมกิจกรรมที่เขายังไม่เห็นประโยชน์

ความเป็นมาของปริญญา ในฐานะที่เขาเคยเป็นอดีตเลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. ในยุคพฤษภาทมิฬ ยิ่งทำให้เขาถูกเพ่งเล็งในแง่ที่ว่าฝักใฝ่การเมือง และมีเป้าหมายทางการเมืองแอบแฝงในการทำงานกับสมาคมนักเรียนไทยฯ ผู้ที่มีใจโน้มเอียงไปในทางต่ำถึงกับแกล้งเปรยออกมาว่า “ระวังเขาจะพาคนไปตายอีก” แต่การที่เขาไม่เป็นที่ยอมรับของบางกลุ่มเมืองนั้น ข้าพเจ้าคาดว่า มีสามสาเหตุใหญ่ คือ (หนึ่ง) ความมีอคติต่อตัวปริญญาเอง ทั้งในแง่ที่ว่าเขาอาจจะมีเป้าหมายทางการเมืองแอบแฝง และใช้สมาคมนักเรียนไทยฯ เพื่อผลประโยชน์ของตน และในแง่บุคลิกลักษณะของเขาเอง ที่แม้จะเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่เขามักจะผูกขาดการพูดไว้กับตนเองโดยไม่ตั้งใจ (สอง) เพราะความรักและภาคภูมิใจในกลุ่มของตน จึงทำให้มองไปว่าสมาคมฯ พยายามจะเข้ามามีอำนาจแทรกแซง ไปจนถึงขั้นหลอกใช้ให้ทำงานในนามของสมาคมฯ และ (สาม) ความไร้เดียงสาของนักศึกษาไทย ที่ไม่เข้าใจเป้าหมายการทำกิจกรรมว่าเป็นไปเพื่อการสมานสามัคคี ไม่ว่าจะในระดับกลุ่มเมืองและระหว่างกลุ่ม เมื่อประกอบกับอคติที่มีต่อตัวบุคคล ยิ่งทำให้เขาไม่สามารถแบ่งแยกตัวองค์กรและบุคคลได้อย่างถูกต้อง

ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปริญญาก็สามารถบุกเบิกกิจกรรมด้านอื่นได้เป็นผลดี ดังเช่น การจัดงานห้าธันวาเป็นครั้งแรกที่เบอร์ลิน การจัดงานกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาไทยในยุโรปที่เบอร์ลิน ซึ่งทางฝรั่งเศสมาร่วมงานถึงร้อยกว่าคน และมีนักศึกษาจากทางอังกฤษและเดนมาร์กมาร่วมด้วย ทำให้สมาคมฯ มีสัมพันธภาพหนาแน่นเป็นอย่างดีกับกลุ่มนักเรียนไทยและชาวไทยในเบอร์ลิน จากเดิมที่ไม่เคยไปจัดกิจกรรมที่เบอร์ลินมาก่อนเลย

ข้อบกพร่องของเขาเห็นจะเป็นว่า เขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างกัน ดังจะเห็นได้ว่า แม้จะมีนักศึกษาไทยมาร่วมงานกีฬานักเรียนไทยในยุโรปที่เบอร์ลินเป็นจำนวนกว่าสามร้อยคน และมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารเป็นที่เรียบร้อย โดยการก่อตั้งเมลลิงลิสต์นักเรียนไทยในยุโรป แต่เมลลิงลิสต์นี้ไม่เคยถูกนำมาใช้ประโยชน์เลย ดังนั้นการสื่อสารติดต่อในระยะยาวจึงมิได้เกิดขึ้น หรือการให้ความไว้วางใจกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ในบางเมืองมากเกินไป โดยมิได้ติดตามผลการดำเนินงานของกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของสมาคมฯ ว่าก่อให้เกิดช่องทางติดต่อสื่อสารอันดีระหว่างนักศึกษาไทยในเมืองนั้นกับสมาคมฯ หรือไม่ แม้กระทั่งเรื่องความสนใจส่วนตัวของเขาซึ่งมีอยู่เฉพาะด้าน ดังเช่น เมื่อเขาสนใจกิจกรรมตีกลองยาว จนตั้งวงตีกลองยาว ที่นำออกแสดงแทบทุกงานก็ว่าได้ ก็เป็นเหตุให้ไม่สามารถกระตุ้นให้นักศึกษาไทยกลุ่มอื่นกระตือรือล้นที่จะจัดการแสดงเข้ามาร่วม ทั้งนายกสมาคมฯ แสดงความสามารถว่าเก่งเสียในแทบทุกเรื่อง เลยยิ่งทำให้นักศึกษาไทยคนอื่นไม่อยากจะเปล่งประกายความสามารถของตนเองออกมา

ข้อที่ข้าพเจ้าเสียดายเป็นที่สุดก็คือ การดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ติดต่อกันอีกปีหนึ่งของเขา ทั้งที่มีผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ลงเลือกตั้งตำแหน่งนายกฯ อีกหลายคน เมื่อเขาไม่ถอนตัว ทั้งยังแสดงทีท่าดังที่เคยกล่าวไว้ว่า “คนทำกิจกรรมครั้งแรก เนื่องจากไม่เคยทำ จึงทำให้บกพร่องได้ หากมีโอกาสทำครั้งที่สอง น่าจะดีกว่าเดิม” จึงทำให้หลายคนให้โอกาสเขา โดยคณะกรรมการฯ ชุดเดิมได้ถอนตัวไปเกือบหมดสิ้น เขามีโอกาสที่จะทำอะไรได้ดีกว่าเดิม แต่ไม่ได้ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์นัก งานห้าธันวาและงานค่ายกิจกรรมมิได้จัด และงานประชุมวิชาการก็มิได้กระตือรือล้นทำให้เกิดขึ้นในสมัยเขา ทั้งที่ประกาศไว้ในนโยบายตั้งแต่ปีแรก แต่ความไม่กระตือรือล้นของเขาก็มีผลดีตรงที่ทำให้มีกลุ่มอื่นที่กระตือรือล้นจัดกิจกรรมขึ้นเอง ดังเช่น งานห้าธันวาที่มึนสเตอร์ของชาวไทยในมึนสเตอร์ งานพบปะนักเขียน ลาว คำหอม ที่ไฮเดลแบร์ก งานพูดคุยกับอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุลที่มึนสเตอร์ โครงการทุนการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสที่เมืองไทยของกลุ่มนักศึกษาเขตเมืองไฮเดลแบร์ก-คาร์ลสรูห์-มันไฮม์ การแข่งขันฟุตบอลระหว่างอาเคนและชตุตการ์ต และการจัดงานประชุมวิชาการ เป็นต้น

หมุดหมายสำคัญของกิจกรรมนักศึกษาไทยในเยอรมันในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ก็คือการจัดงานวิชาการ เพราะแม้นักศึกษาส่วนใหญ่จะกลับไปเป็นอาจารย์หรือนักวิจัย แต่กลับไม่เคยมีการจัดกิจกรรมในแง่ของการนำเสนองานวิชาการของนักเรียนไทยในเยอรมัน หรือจัดเก็บรวบรวมข้อมูลด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง ปริยากร พูสวิโร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กรรมการสัมพันธ์เมืองฮัมบวร์ก ผู้ซึ่งได้รับฉันทามติให้เป็นหัวเรือใหญ่ในการดำเนินงาน ใช้วิธีเดินทางพบปะสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายของการจัดงานไปตามเมืองต่างๆ มีการตั้งประเด็นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านเว็บบอร์ดสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีผู้เห็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งกลุ่มนักเรียนไทยในชตุตการ์ตรับเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ปริยากรเองก็ได้ติดต่อไปยังหน่วยงานราชการที่เมืองไทย ซึ่งพร้อมให้ความสนับสนุนเป็นตัวเงิน ทั้งยังได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก เดินทางมาร่วมเป็นองค์ปาฐก ทำให้มองเห็นได้ว่า กิจกรรมที่ดีมีประโยชน์นั้น ย่อมมีผู้ให้ความสนับสนุนและความร่วมมือ แม้กระทั่งแหล่งทุนก็มิได้จำกัดว่าจะต้องหาจากในเยอรมันแต่เพียงอย่างเดียว ผลของการจัดงานประชุมวิชาการทำให้เกิดความกระตือรือล้นที่จะจัดงานเสวนาเชิงวิชาการเพิ่มขึ้นในหมู่นักศึกษาไทย ทั้งงานประชุมวิชาการครั้งที่ ๒ ที่อาเคน งานประชุมวิชาการครั้งที่ ๑ ของนักเรียนไทยในฝรั่งเศสเอง และงานเสวนาวิชาการกลุ่มย่อยที่มิวนิค มึนสเตอร์ เป็นต้น

๓. ข้อสังเกต

รัฐบาลไทยได้ริเริ่มนโยบายส่งนักศึกษาไทยมาศึกษายังต่างประเทศเป็นโครงการต่อเนื่องนับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แม้จะมีชาวไทยในเยอรมันอยู่มาก แต่นักเรียนทุนรัฐบาลไทยในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ มีเพียงยี่สิบคนเท่านั้น นักเรียนทุนส่วนตัวยิ่งมีน้อยกว่าน้อย ข้าราชการที่ลาศึกษาต่อโดยได้รับทุนรัฐบาลเยอรมันมีอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อนับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา คณะกรรมการของสมาคมนักเรียนไทยฯ ล้วนประกอบไปด้วยนักเรียนทุนรัฐบาลเป็นหลัก ที่ว่าเป็นหลักก็คือหลายคนได้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการฯ ติดต่อกันหลายวาระ เพราะต้องใช้เวลาในการศึกษาเป็นเวลานาน คือตั้งแต่ระดับดิพโพลมจนถึงปริญญาเอก ในขณะที่นักเรียนทุนส่วนตัวมีข้อจำกัดด้านเวลาและทุนทรัพย์ เพราะส่วนใหญ่มาศึกษาต่อในระดับเทียบดิพโพลม โอกาสที่จะทำกิจกรรมติดต่อกันเป็นเวลานานจึงเป็นเรื่องเป็นไปได้น้อยมาก และข้าราชการที่ลาศึกษาต่อส่วนใหญ่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก มีทัศนคติว่าไม่ควรเข้ามาร่วมในการทำกิจกรรมนักศึกษา

บทบาทและการดำเนินงานของสมาคมนักเรียนไทยฯ ช่วงระหว่างปีพ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๔๑ นับได้ว่าแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด กิจกรรมเป็นไปตามที่เคยทำกันมา คือเมื่อรับตำแหน่ง ก็ออกจดหมายข่าว จัดงานห้าธันวา จัดงานสัมมนาหนึ่งงาน ระหว่างปีก็พยายามออกจุลสารเพื่อนไทยให้ได้อย่างน้อยสามเล่ม เป็นต้น

ความนิ่งในการทำกิจกรรมของสมาคมนักเรียนไทยฯ ซึ่งปรกติมีบทบาทนำนั้น นำไปสู่ความกระตือรือล้นในการทำกิจกรรมของกลุ่มข้าราชการลาศึกษาต่อที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมีกิจกรรมสัญจรสานสัมพันธ์ และการยื่นหนังสือเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของชาวไทยในต่างประเทศและร่างจดหมายสนับสนุนรัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องหมายสำคัญ ความตื่นตัวในกิจกรรมด้านการเมืองนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากกระแสร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทยก็เป็นได้ ทั้งกลุ่มข้าราชการลาศึกษาต่อก็มีนักศึกษากฎหมายที่มีความสนใจเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองเป็นแกนนำก็อยู่ในภาวะสุกงอมในการตอบคำถามถึงบทบาทนักเรียนไทยของตน เพราะแม้แต่บรรเจิด สิงคะเนติ ซึ่งเคยเป็นมันสมองของคณะกรรมการสมาคมฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๓๘ เขากลับมิได้รับตำแหน่งใด แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เขากลับเป็นผู้เขียนบทความ “บทบาทของนักเรียนไทย เมื่อไร้สำนักงานผู้ดูแลฯ“ โดยเรียกร้องความสมานสามัคคีจากนักเรียนไทยทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก ทั้งยังเรียกร้องให้นักศึกษาไทยรุ่นใหญ่โดยเฉพาะที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับรุ่นน้อง และในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งสุนทรียาและวีระพันธ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกทั้งคู่ ก็ได้แสดงความสนใจที่จะลงสมัครเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยฯ และได้เริ่มเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าในการทำกิจกรรมตามประเพณีดั้งเดิมนับแต่นั้น

ประเทศเยอรมันเองนับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๒ ก็มีนโยบายเปิดประเทศด้านการศึกษา เปิดรับนักศึกษาต่างชาติให้เข้ามาศึกษาในเยอรมันมากขึ้น ทั้งยังมีการโฆษณาให้ข้อมูลทางการศึกษาในประเทศไทยอย่างเต็มที่ แรงดึงดูดหลักที่ดึงนักศึกษาไทยมาศึกษาในเยอรมันก็คือค่าเล่าเรียนในอัตราต่ำกว่าประเทศอื่น ดังนั้น ปริมาณนักศึกษาไทยที่มาศึกษาในเยอรมันด้วยทุนส่วนตัวจึงได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งกลายเป็นส่วนใหญ่ของนักเรียนไทยทั้งหมด ถึงแม้จะมีนักเรียนทุนรัฐบาลเป็นคณะกรรมการฯ อยู่ในสมาคมนักเรียนไทยฯ อีกมาก แต่ปริมาณนักเรียนทุนรัฐบาลที่สนใจมาร่วมกิจกรรมของสมาคมฯ กลับลดน้อยลง

นักศึกษาในเยอรมันมีโอกาสใช้อินเทอร์เน็ตในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๖ แต่ปริมาณผู้ใช้อีเมลในการติดต่อสื่อสารกลับมีจำนวนน้อยมาก สื่อกลางในการติอต่อสื่อสารระหว่างกันคือจุลสารเพื่อนไทย และจดหมายข่าวของสมาคมฯ นักศึกษาไทยในเยอรมันมีโอกาสรับทราบข่าวสารจากประเทศไทยน้อยมาก เพราะไม่สามารถหาอ่านหนังสือพิมพ์หรือวารสารจากเมืองไทยได้ แม้เทคโนโลยีเว็บไซต์ได้พัฒนาขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๓๘ เว็บไซต์ของสมาคมนักเรียนไทยฯ เพิ่งจัดทำขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๔๑ เมลลิงลิสต์ของคณะกรรมการฯ และสมาชิก และเว็บบอร์ด ได้จัดทำขึ้นในปีถัดมา แต่แม้ในคณะกรรมการฯ เอง ก็ยังมิได้ใช้อีเมลเป็นสื่อในการติดต่อสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ เมื่อกระแสการใช้อินเทอร์เน็ตในเยอรมันพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในปีพ.ศ. ๒๕๔๓ นักศึกษาไทยเกือบทุกคนมีคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทั้งยังมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้ติดตัวแทบทุกคน การติอต่อสื่อสารระหว่างกันยิ่งรวดเร็วขึ้นอย่างถึงที่สุด ดังที่เคยมีการประชุมคณะกรรมการฯ ผ่านอินเทอร์เน็ตในปีเดียวกันนั้นเอง

๔. บทสรุป

จะเห็นได้ว่า ในช่วงแรก การติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของนักศึกษาไทยในเยอรมันเป็นไปอย่างยากลำบาก การตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองนั้นเริ่มในกลุ่มข้าราชการลาศึกษาต่อซึ่งมีวัยวุฒิและประสบการณ์มากกว่ากลุ่มอื่น การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในมหาวิทยาลัยซึ่งมีมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๖ มีอยู่ในเพียงบางกลุ่มและกว่านักศึกษาไทยในเยอรมันจะจัดทำเมลลิงลิสต์เป็นของตนเองก็ต้องใช้เวลาถึงหกปีหลังจากนั้น

จากการเฝ้ามองประวัติศาสตร์ในทศวรรษที่ผ่านมา แม้กิจการนักศึกษาไทยในเยอรมันจะมีสมาคมนักเรียนไทยฯ เป็นแกนหลัก และกิจกรรมของสมาคมเป็นไปตามนโยบายและบุคลิกของนายกสมาคมฯ เสียยิ่งกว่าการริเริ่มจากคณะกรรมการฯ แต่หากปราศจากคณะทำงานที่มีศักยภาพ นโยบายของนายกสมาคมฯ ก็ไม่สามารถบรรลุผลทำให้เป็นจริงได้

ข้าพเจ้าแม้จะชื่นชมวีรบุรุษ แต่ไม่นิยมทฤษฎีวีรบุรุษ ที่ถือว่าการเปลี่ยนแปลงใดจะต้องเกิดจากบุคคลที่มีสติปัญญาความสามารถเหนือคนอื่นแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น และแม้ข้าพเจ้าจะเชื่อในการรวมตัว แต่ก็มีความเห็นว่า หากขาดสติปัญญาแล้ว การรวมตัวก็นำไปสู่การแบ่งแยกหมู่คณะได้เช่นเดียวกัน เพราะถึงแม้จะมีการหลอมละลายอัตตาของปัจเจกบุคคลไปสู่ความสามัคคีของกลุ่ม แต่หากไม่ระวัง การมองอะไรเพียงโดด-โดด ไม่เห็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นหรือคนอื่นเป็นเรื่องอันตรายยิ่งนัก เพราะจะนำไปสู่อหังการและมมังการที่ว่า ตนเองและหรือความเห็นของตนหรือกลุ่มตนดีกว่าคนอื่นหรือกลุ่มอื่น มีแต่การเปิดใจเรียนรู้ในความแปลกหน้าของกันและกันเท่านั้น จึงจะทำให้ข้ามพ้นมิจฉาทิฐิข้อนี้ไปได้

ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่สามารถสืบค้นประวัติศาสตร์ของนักศึกษาไทยในเยอรมันสามสิบห้าปีก่อนหน้านี้ได้ และเมื่อมองเปรียบเทียบกับนักศึกษาไทยในประเทศอื่นแล้วราวกับว่านักศึกษาไทยในเยอรมันออกจะไม่มีส่วนร่วมอย่างไรในประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง ดังความมุ่งหมายของการส่งนักเรียนไทยมาศึกษายังเมืองนอกของสยาม แต่ทศวรรษที่ผ่านมาพอจะมองเห็นได้ไม่ยากว่าการรวมกลุ่มของนักศึกษาไทยในเยอรมันได้ว่ามีความต่อเนื่องและยาวนานมากกว่านักศึกษาไทยในประเทศอื่น ทำให้พอจะมีความหวังได้ว่าศักยภาพของนักเรียนไทยในเยอรมันคงจะพอเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองได้บ้าง ในยามที่กลับไปประจำตามกลไกต่าง ๆ ของสังคม และเขียนประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตร่วมกันอีก

germany03

มีการตอบกลับหนึ่งครั้ง to “เหง้าและรากของกิจการนักศึกษาไทยในเยอรมัน ในทศวรรษที่ผ่านมา พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๕”

  1. dressofballet 2015/06/30 ที่ 23:52 #

    Reblogged this on dressofballet.

ใส่ความเห็น