Tag Archives: ความเป็นธรรม

เดินไปด้วยกัน

12 ต.ค.

โดย ชลนภา อนุกูล

 

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ มีการเดินเท้าเพื่อความเป็นธรรมร่วมกันของผู้คน ๑๐๐,๐๐๐ คนในอินเดีย เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียหลังประกาศเอกราช และอาจจะใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันก็ว่าได้

การเดินเท้าดังกล่าวตั้งต้นที่เมืองกวาลิเออร์และมีเป้าหมายที่นครนิวเดลี – เมืองหลวงและที่ตั้งของรัฐสภาอินเดีย – รวมระยะทาง ๓๕๐ กิโลเมตร ผู้คนที่มาร่วมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและดาลิต (จัณฑาล) ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน

สาเหตุน่ะหรือ? – อินเดียประสบปัญหาความไม่เป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรที่ดินอย่างหนัก ในช่วง ๖๕ ปีที่ผ่านมา ผู้คน ๑๔ ล้านคนต้องเปลี่ยนอาชีพจากชาวนา โดยมีคนราว ๒๑.๓ ล้านคนต้องย้ายที่อยู่เพราะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ สถิติในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๕๓ พบว่าชาวนา ๒๖๐,๐๐๐ คนฆ่าตัวตาย กล่าวโดยสรุป ผู้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัยและยังต้องรอการชดเชยจากรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมสลัมอินเดียจึงมีมากมายและใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก

เป้าหมายของการเดินที่เรียกว่า ชนะเดช ๒๐๑๒ (Janadesh) – คำพิพากษาของปวงชน – ก็คือ การเรียกร้องให้มีกฎหมายปฏิรูปที่ดินระดับชาติ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กลุ่มคนยากจนที่ไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มประชากรชายขอบทั้งหลายเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพ

ผลก็คือ หลังจากเริ่มเดินได้ ๗ วัน ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลกับผู้นำภาคประชาชนบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ขบวนทั้งหมดจึงหยุดที่เมืองอัครา

ผู้คนที่ยากไร้ ๑๐๐,๐๐๐ คนออกมาเดินพร้อมกันได้อย่างไร? – กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของเอ็กตา ปาริฉัด (Ekta Parishad) แปลว่า สภาสมานฉันท์ ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ประกอบด้วยองค์กรชุมชนราว ๑๑,๐๐๐ แห่ง เป็นเครือข่ายครอบคลุมกว่า ๑๑ รัฐ ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยราชโคปาล (Rajagopal) นักปฏิบัติการทางสังคมที่สมาทานสันติวิธีตามแนวทางของคานธี

เอ็กตา ปาริฉัด มีเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมผ่านการเสริมพลังอำนาจการต่อรองของกลุ่มคนในสังคมและเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงตนเอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนยึดแนวทางสันติวิธีของคานธีที่ปฏิเสธความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนิ่งเฉยไม่ทำอะไร หากหมายถึงเมื่อเห็นความไม่เป็นธรรมทางสังคม ซึ่งก็คือความรุนแรงทางโครงสร้าง ก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ และไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของอินเดีย หากยังเพื่อประโยชน์ของโลกอีกด้วย

การเดินทางสู่ความฝันของเอ็กตา ปาริฉัด มุ่งเน้นการทำงานกับ “คน” โดยเฉพาะกลุ่มคนยากไร้ในชุมชน ทั้งกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกขับไล่ออกมาจากป่าหลังจากรัฐประกาศให้เป็นป่าสงวนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มดาลิตที่อยู่นอกระบบวรรณะของฮินดู และเป็นการทำงานที่เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก

ด้วยเหตุนี้เอง ก่อนการเดินเท้าร่วมกันของผู้คน ๑๐๐,๐๐๐ คน เพื่อเรียกร้องให้มีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน จึงมีการเดินเท้าร่วมกันของผู้คน ๒๕,๐๐๐ คนในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติ การเตรียมการก่อนเดินแต่ละครั้งประกอบด้วยการเดินเท้าย่อยๆ ในแต่ละรัฐ บุคลากรของเอ็กตา ปาริฉัด จะลงไปในแต่ละหมู่บ้านเพื่อจัดเตรียมความพร้อมของผู้คนและชุมชน ตั้งแต่สนับสนุนให้มีองค์กรระดับหมู่บ้าน ผู้นำหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารเมล็ดพันธุ์ เก็บเงินวันละ ๑ รูปี หรือข้าว ๑ กำมือจากแต่ละครอบครัว และข้าววันละ ๕ กิโลกรัมจากแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเป็นเสบียงกรังระหว่างการเดินเท้า มีการเขียนคำขวัญของขบวนการไว้บนกำแพงบ้าน ติดธงสีเขียวพร้อมสัญลักษณ์ที่หน้าบ้าน มีการประชุมหมู่บ้านและจัดทำบันทึก ตลอดจนสวดมนต์ ร้องเพลงประจำขบวนการ และเปล่งคำขวัญอย่างสม่ำเสมอ นี้ยังไม่นับการพัฒนาศักยภาพผู้นำและภาวะการนำ ที่มีหลักสูตรและกระบวนการคัดเลือกคนโดยชุมชนอย่างชัดเจน – กระบวนการตระเตรียมเหล่านี้ใช้เวลาสองปีบ้าง ห้าปีบ้าง ไม่ใช้เงินเป็นหลักในการขับเคลื่อน แต่มุ่งที่การเสริมพลังอำนาจภายในของผู้คน เป็นการจัดตั้งมวลชนอย่างละเอียดประณีตมากทีเดียว

เอ็กตา ปาริฉัด ให้ความสำคัญต่อสันติวิธีตามแนวทางคานธีมาก และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้านตั้งแต่ระดับฐานล่าง การนำพาผู้คนเข้าสู่ปฏิบัติการเดินเท้าอย่างสันติวิธีในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ก็คือการฝึกฝนเตรียมความพร้อมของผู้คนนั่นเอง สำหรับชาวบ้านผู้ยากไร้และขาดทักษะในการอ่านเขียน การนำพาตัวเองเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการจริงจึงเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ในปฏิบัติการแต่ละครั้งจึงไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย

เมื่อสั่งสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อยจากปฏิบัติการจากระดับเล็กมาสู่ใหญ่ คนเล็กคนน้อยเหล่านี้ก็เกิดความมั่นใจ เกิดเป็นอำนาจภายในที่มีพลังในตัวของแต่ละบุคคล และเมื่อก่อตัวขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน/ขบวน ที่มีกระบวนการช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปันและตัดสินใจร่วมกัน ก็นำไปสู่อำนาจร่วมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนกระทั่งสามารถต่อรองกับอำนาจที่เหนือกว่าอย่างเช่นอำนาจรัฐได้ – และทั้งหมดก็คือการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั่นเอง

ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุด เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก ต้องลงทุนลงแรงสูง และใช้เวลามาก การสร้างการเปลี่ยนแปลงกระแสหลักจึงมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง วัดผลสำเร็จที่การปรับแก้หรือออกกลไก/นโยบาย/มาตรการใหม่ ซึ่งหลายครั้งพบว่ากลไกไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง กฎหมายหรือนโยบายไม่ถูกนำไปบังคับใช้ หรือมีการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ จะว่าไปแล้วก็อาจจะเป็นเพราะได้ละเลยการสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกนั่นเอง นั่นคือ แม้ว่าจะเกิดแนวนโยบายใหม่และอาจกล่าวได้ว่า สังคมมีการพัฒนาขึ้นแต่ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะประสบผลหรือทรงพลังก็ต่อเมื่อผู้ที่ประสบความทุกข์หรือเจ้าของปัญหาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี ผู้ประสบความทุกข์โดยมากมักเป็นคนยากไร้ คนที่มีสถานะทางสังคมต่ำ ไร้ตัวตน ไร้เสียง ไร้พื้นที่แสดงตัว ซึ่งนอกจากจะเกิดจากโครงสร้างอยุติธรรมที่กดทับแล้ว ยังเกิดจากจิตสำนึกที่กดทับตัวเองด้วย การสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกจึงต้องมุ่งเน้นเจ้าของปัญหาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งนี้ ชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ หรือปัญญาชน ก็ต้องมีหน้าที่ในการเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกระบวนการที่นำไปสู่การฟื้นฟูพลังอำนาจภายในของกลุ่มคนชายขอบ และช่วยกันสร้างระบบที่เอื้อต่อการใช้อำนาจหรือการตัดสินใจร่วมกันให้มากที่สุด

หากถามว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ไหมในเมืองไทย? – ก็คงต้องชวนให้หันไปดูอินเดีย ประเทศที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ยากไร้ แต่ก็มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เข้มแข็งอย่างเอ็กตา ปาริฉัด ประเทศที่เต็มไปด้วยความทุกข์ของผู้คนจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังมุ่งหวังถึงสังคมที่เป็นธรรมอย่างไม่ท้อถอย ประเทศที่ดูงมงายไปด้วยลัทธิความเชื่อทางศาสนามากมายแถมไม่มีศาสนาประจำชาติ กลับมีศรัทธาอย่างเข้มแข็งในเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ ประเทศอันเป็นแหล่งกำเนิดศาสดาและผู้นำทางศาสนาจำนวนมากนี้ มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการเดินไปด้วยกันของเพื่อนมนุษย์อันสามัญธรรมดานี้เอง

ชีวิตที่ดีกว่าเดิม ช่องว่างระหว่างมนุษย์ต้องน้อยลง

27 เม.ย.

โดย ชลนภา อนุกูล

ในโรงแรมใหญ่กลางเมือง ติดกับเขตท่องเที่ยวกลางคืนของบางกอก แขกกลุ่มหนึ่งจำนวนนับสิบคน แต่งกายด้วยชุดชนเผ่า บางคนไม่สวมรองเท้า เดินคลาคล่ำอยู่บริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน ผู้บริหารโรงแรมตกใจถึงขนาดโทรศัพท์หาฝ่ายขายและฝ่ายการตลาดของโรงแรมเพื่อสอบถามว่าผู้คนเหล่านี้มาจากไหน เมื่อทราบว่าเป็นแขกของโรงแรมที่เดินทางมาร่วมงานเทศกาลความเป็นธรรมซึ่งจัดอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยบนถนนฝั่งตรงข้ามก็สั่งการให้เชิญผู้คนเหล่านี้ไปนั่งรอกระบวนการเช็กอินในห้องอีกห้องหนึ่งเป็นการพิเศษ และอาจจะเรียกได้ว่าเก็บให้พ้นหูห้นตานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของโรงแรมระดับสี่ดาว ทั้งที่จะว่าไปแล้ว แขกของโรงแรมชุดนี้เพียงแต่แต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าของตน และจ่ายค่าที่พักให้กับโรงแรมเหมือนกับลูกค้าจีนและฝรั่งที่เดินเข้ามาในฐานะทัวริสต์

เมื่อรถจากัวร์สีดำจอดเทียบบริเวณหน้าประตูโรงแรมห้าดาวกลางเมือง พนักงานโรงแรมกุลีกุจอเข้ามาเปิดประตูด้านหลัง ผู้โดยสารที่สวมสูทดำเพียงแต่ก้าวเท้าออกแล้วก็เดินเข้าประตูโรงแรมไป คนขับรถยื่นธนบัตรสีแดงให้ใบหนึ่งแล้วพูดสั้น-สั้นว่าช่วยดูรถให้ด้วย เมื่อรับแล้วพนักงานโรงแรมก็ยกกรวยกั้นที่จอดรถด้านหน้าออกแล้วให้สัญญาณเข้าจอด เข้าใจว่าขากลับอาจจะได้รับอีกสักใบสองใบ

อดีตนักธุรกิจหญิงท่านหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อลาออกจากงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง วันหนึ่งไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร เธอรู้สึกอับอายมากที่ต้องเข้าคิวเหมือนลูกค้าธรรมดา-ธรรมดาคนอื่น เพราะปรกติเรื่องเหล่านี้จะมีลูกน้องจัดการให้ หรือเดินเข้าไปแล้วก็จะได้รับการต้อนรับในฐานะแขกพิเศษ

            หากเราไปที่ห้างสรรพสินค้าจะพบว่า ที่จอดรถส่วนหนึ่งจะถูกกันไว้ให้ผู้ถือบัตรพิเศษยี่ห้อต่าง-ต่าง ซึ่งหากเปรียบเทียบจำนวนพื้นที่ที่ถูกกันไว้ดูเหมือนจะมากกว่าที่จอดรถสำหรับคนพิการหรือผู้หญิงเสียด้วยซ้ำ แล้วถ้าก้าวเท้าเข้าไปในห้าง พื้นที่บางส่วนก็จะถูกจัดสรรไว้ให้ผู้ถือบัตรสินค้าบางยี่ห้อให้เข้าไปนั่งพักหรือดื่มน้ำชากาแฟแบบไม่จ่ายเงิน สำหรับคนที่ต้องขับรถวนหาที่จอดรถและหรืออยากได้ที่นั่งพักเหนื่อยโดยไม่เสียสตางค์ก็คงต้องคิดหรือรู้สึกที่อยากจะครอบครองบัตรเหล่านั้นบ้างไม่มากก็น้อย

            ทุกแห่งทุกหนในเมืองไทยดูเหมือนจะมีการจัดแบ่งพื้นที่ที่แบ่งแยกความเป็นคนพิเศษ-ธรรมดาออกจากกันอย่างเด่นชัดและดูเป็นเรื่องปรกติธรรมดาเสียเหลือเกิน กระทั่งว่าในสำนักงานบางแห่ง หากเดินเข้าไปแล้วสามารถดูออกได้ไม่ยากว่า ตรงไหนคือที่ของนาย ตรงไหนคือที่ของลูกน้อง และตำแหน่งใครใหญ่เล็กกว่าใคร ก็ด้วยขนาดของพื้นที่หรือขนาดของพาร์ติชันที่กั้นไว้ ส่วนกลุ่มคนที่มีฐานะตำแหน่งต่ำต้อยที่สุดในสำนักงานอย่างเช่น ผู้หญิงที่เป็นพนักงานทำความสะอาด ผู้ชายที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย อาจจะไม่มีกระทั่งพื้นที่สำหรับนั่งกินข้าวหรือพักกลางวันด้วยซ้ำ และที่รุนแรงมากขึ้นเห็นจะเป็นว่า ห้องพักในคอนโดมิเนียมราคาแพงสำหรับเศรษฐีลืมออกแบบห้องพักสำหรับคนรับใช้ และต้องใช้ห้องเก็บของที่ไม่มีหน้าต่างไม่มีทางระบายอากาศเป็นที่พักแทน

            ความแตกต่างที่สะท้อนผ่านพื้นที่ทางกายภาพเหล่านี้ยังสะท้อนไปถึงขนาดของเงินเดือนในกระเป๋าของแต่ละคนด้วย ดังผลการสำรวจของบริษัทเฮย์ กรุ๊ปในปีพ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ยืนยันว่าเงินเดือนผู้บริหารไทยอาจจะสูงกว่าเงินเดือนพนักงานระดับล่างถึง ๑๐ เท่า ในขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์มีความต่างอยู่เพียง ๓ เท่า เรียกได้ว่ามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนสูงเป็นอันดับ ๒ ของเอเชียเลยทีเดียว

            แต่เมื่อมองไปที่สัดส่วนรายได้ของรัฐจากภาษี คนรวยที่มีรายได้มากกว่าครอบครองทรัพย์สินมากกว่ากลับเสียภาษีในสัดส่วนที่น้อยกว่าภาษีประเภทอื่นที่เก็บจากทุกคน (ร้อยละ ๔๒.๓ และร้อยละ ๕๑.๒ ตามลำดับ) แล้วก็เช่นเคย – อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่กลับหัวกลับหางกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างนอร์เวย์ สวีเดน สหราชอาณาจักร

            โดยทั่วไปแล้ว สังคมศักดินาไทยเชื่อว่ายิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้น ความรับผิดชอบก็ต้องยิ่งสูงขึ้น ผลตอบแทนก็ย่อมสูงขึ้นตาม ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกับความเชื่อแบบทุนนิยมเสรีที่เชื่อเรื่องการแข่งขันว่า ใครเก่งหรือเจ๋งกว่า คนนั้นก็รับผลตอบแทนมากกว่า แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้ยืนยันความเชื่อเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย เพราะกลายเป็นว่า ยิ่งตำแหน่งสูง เงินเดือนมาก แต่จ่ายภาษีให้หลวงน้อยลง คืนกลับมาสร้างสาธารณประโยชน์น้อยลง กระทั่งว่าที่ได้ตำแหน่งสูง เงินเดือนมาก ก็ไม่ใช่เพราะฝีมือ หากเป็นเรื่องของนามสกุล พวกพ้อง เครือข่าย และบ่อยครั้งก็อาศัยสติปัญญาและความสามารถของคนที่ตำแหน่งต่ำกว่าและเงินเดือนน้อยกว่าแทบทั้งนั้น กล่าวโดยสั้น สิทธิพิเศษของผู้คนเหล่านี้ได้รับมาด้วยราคาที่จัดว่าถูกเกินไปและด้วยค่าใช้จ่ายของคนอื่นด้วยซ้ำ 

            การสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้ก็ต้องเริ่มจากการมองให้เห็น “วิธีคิด” ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องชอบธรรมนั่นแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวนโยบายทั้งหลายที่เน้นเรื่องการเติบโต ซึ่งในที่สุดก็จะมุ่งไปที่ประโยชน์ของกลุ่มคนรวย และสร้างภาพลวงตาของการพัฒนาประเทศตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา นั่นคือ เงินในกระเป๋าคนรวยเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเฉลี่ยตัวเลขจีดีพีสูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนจะดีขึ้น เพราะช่องว่างความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่มาก ดังที่ค่าเฉลี่ยตัวเลขจีนีของเราอยู่ในอันดับต้นของโลกมาหลายสิบปีแล้ว

            แนวนโยบายที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนโดยรวมดีขึ้น เป็นสุขร่วมกันมากขึ้น จะต้องเน้นไปที่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ต้องตั้งคำถามให้มากขึ้น สงสัยกันให้มากขึ้น ว่านโยบายแบบใดนำไปสู่ผลแบบใด และต้องปฏิเสธแนวทางที่สร้างระยะห่างหรือช่องว่างระหว่างมนุษย์กันให้มาก

ในสังคมประชาธิปไตยที่แท้นั้น ไม่ได้สนใจแต่เพียงเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ยังต้องคำนึงถึงภราดรภาพอีกด้วย ผู้คนต้องเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันมากขึ้น เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น แม้จะขัดแย้งในทางความคิด แต่ก็เป็นมิตรต่อกันมากขึ้นในความเป็นมนุษย์ 

ใบหน้าและดวงตาของจิตสำนึกใหม่ในภัยพิบัติน้ำท่วม

10 ธ.ค.

โดย ชลนภา อนุกูล

ใบหน้าของนุ นุ (ภาษาพม่าแปลว่า นุ่มนวล) เรียบเฉย ปากปิดสนิทนิ่ง สายตาเธอทอดมองสายน้ำเบื้องหน้า ยากจะบอกได้ว่าเธอรู้สึกเช่นไร หรือคิดอะไรอยู่

หลังจากน้ำท่วมถึงหน้าโรงงานช่วงบ่าย นายจ้างประกาศปิดโรงงาน คนที่ยืนเฝ้าหน้าประตู เพราะกลัวคนงานหนีกลับบ้านไปเก็บของหายตัวไปแล้ว  เธอกับเพื่อนก็รีบไปเก็บข้าวของออกจากที่พัก ซึ่งขณะนี้หม้อชามรามไหเริ่มลอยขึ้นมาแล้ว

เธอและเพื่อนหยุดงานไม่ได้ในช่วงเช้า เพราะยังไม่ได้รับค่าจ้าง และนายจ้างก็ไม่ได้ประกาศหยุด ถ้าเธอไม่ไปทำงานก็คงชวดทั้งค่าจ้างและงาน

ไปไหนไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรประจำตัว ออกไปก็กลัวถูกตำรวจจับ แถมเป็นผู้หญิง จะตามตำรวจไปสถานีโรงพักคนเดียวก็กระไรอยู่ สู้จ่ายเงิน (เธอเข้าใจว่าเป็นค่าปรับ แต่กฎหมายไทยไม่ได้ระบุเรื่องนี้) รออีกสักสองสามวันให้น้ำลด โรงงานก็คงเปิดตามปรกติ – ด้วยเหตุนี้ เธอยังอยู่กับเพื่อนอีกหลายร้อยคนที่หอพัก ย้ายขึ้นไปบนชั้นที่สูงขึ้นกว่าเดิม

หลายวันผ่านไป น้ำสูงเกินหัว ไม่รู้ว่าน้ำจะลดเมื่อไหร่ ฟังวิทยุและโทรทัศน์ภาษาไทยไม่ออก ข้าวปลาอาหารและน้ำก็ไม่ได้ตุนไว้มากมาย เดินลุยน้ำไปมาเท้าเริ่มเปื่อย ยาก็ไม่มี ไม่ป่วยไข้ช่วงนี้ก็ถือว่าโชคดี แต่เพื่อนเธออีกคนหนึ่งสิ เป็นแม่ลูกอ่อน นมผงก็เริ่มหมด จะยืมจากคนอื่นก็คงยาก ถ้าเปลี่ยนยี่ห้อนม โอกาสท้องเสียค่อนข้างสูง

เริ่มคิดถึงการกลับบ้าน แต่จะกลับได้อย่างไร ค่านายหน้ายังผ่อนจ่ายไม่หมด จะกลับมาอีกครั้งก็ต้องจ่ายใหม่ แต่ละครั้งไม่ใช่เงินจำนวนน้อย

            อาจิณขบฟันแน่น เธอนั่งอยู่บนแคร่ไม้ที่มีข้าวของกองเต็มไปหมด มองโทรทัศน์ในบ้านลอยเท้งเต้งอยู่เหนือกองทัพน้ำเน่าที่ทะลักทะลวงผ่านฝาผนังและประตูเข้ามาอย่างไม่ปรานีปราศรัย

คนอยู่บ้านชั้นเดียวอย่างเธอ ไม่มีปัญญาจะย้ายของไปตรงไหน ฉวยอะไรได้ก็ฉวย สมบัติพัสถานที่มีค่ามากที่สุดในบ้าน – โทรทัศน์ – ก็จมน้ำไปหมดแล้ว เหลือแต่ครกกับสาก เครื่องมือหากินสำหรับตำน้ำพริกขาย อะไรก็หายไปหมด ยกเว้นหนี้(นอกระบบ)อีกก้อนหนึ่ง

น้ำเริ่มสูงขึ้น เธอค่อยย้ายไปวัดใกล้บ้านที่แปลงสภาพเป็นศูนย์พักพิงชุมชนไปแล้ว ไม่อยากจะไปไหนไกล ไม่มีของให้ห่วงก็ยังห่วงบ้าน ถึงจะเป็นบ้านเช่า แต่ก็เป็นที่เดียวที่เธอรู้จัก

เงินเก็บร่อยหรอลงทุกวัน ตอนนี้ไม่มีออร์เดอร์สั่งทำน้ำพริกเลย น้ำท่วมกันหมดบ้านหมดเมืองกันอย่างนี้ คนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีนายจ้างเป็นตัวเป็นตนกับใครเขา แม้จะได้ชื่อว่าเป็นแรงงานนอกระบบ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ แต่เธอกำลังจะอดตาย จะหาเงินยังไง ลูกจะเรียนหนังสือกันยังไง – ประกันสังคมน่ะหรือ เงินช่วยเหลือคนว่างงานน่ะหรือ ชาตินี้ไม่เคยรู้จัก

น้ำท่วมครั้งนี้ กวาดเอาสมบัติ อาชีพ และโอกาสของลูกเธอออกไปเสียเกลี้ยง

            กิ่งและใบของต้นส้มโอนครชัยศรีเฉาแห้ง ไม่ได้ขาดน้ำหรอก หากแต่น้ำขังท่วมเต็มสวนส้มโอมาหลายวันแล้ว รากเริ่มเน่า ไม่รู้จะดูดกินง้วนดินอย่างไร – ถ้าต้นไม้มีตีนก็คงวิ่งหนีน้ำตามมนุษย์ไปแล้ว

ทำไมสวนส้มโอถึงประสบภาวะน้ำท่วมขัง ในขณะที่บางพื้นที่กลับแห้งผาก การตัดสินใจเลือกให้พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่รองรับน้ำเพื่อปกป้องพื้นที่บางส่วนไว้ มีหลักเกณฑ์อะไร ใครเป็นคนตั้ง และคุ้มค่าจริงหรือไม่ นั้นยังเป็นคำถามในเขาวงกตแห่งความเป็นธรรม

ปั๊ก ปั๊ก ปั๊ก ปั๊ก – ต้นส้มโอสะเทือนไปหน่อยหนึ่งตามแรงกระแทก ชาวสวนกลุ่มหนึ่งระดมกำลังเจาะรูระบายอากาศให้ต้นส้มโอ ริดใบและลูกออก กำจัดขยะของเสีย และเพิ่มออกซิเจนลงไปในน้ำ – ทั้งหมดทั้งนั้นเพื่อช่วยชีวิตสวนส้มโอ ด้วยความหวังเพียงว่า รักษาไว้ได้ร้อยละ ๑๐ ก็ถือว่าเป็นโชค จะได้มีพันธุ์ส้มโอนครชัยศรีหลงเหลือไว้ขยายต่อในภายหลัง

คนสวนทำไปเพราะรักต้นไม้ของเขาหรือเพียงเพราะต้องการรักษาแหล่งยังชีพของตน? – คำถามนี้หากตั้งใจตอบก็คงตอบได้ไม่ง่ายนัก

ในภาวะน้ำท่วมทุกหัวระแหง ท่ามกลางบรรยากาศการตามล่าจระเข้และงูกรีนแมมบ้าอย่างเอาเป็นเอาตาย ความพยายามช่วยเหลือต้นส้มโอทำให้เราเห็นขอบเขตของความช่วยเหลือที่ไปไกลกว่าการเอาอาหารไปสงเคราะห์หมาแมวไร้เจ้าของ

หากขอบเขตของจิตสำนึกแห่งความเมตตากรุณาเราไปได้ไกลกว่าเผ่าพันธุ์เดียวกัน แม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีมือมีตีนหรือกระทั่งมีนมเหมือนเรา จิตสำนึกนี้ก็ควรแก่การค้อมหัวเคารพนบน้อม

๔.๑

            หากความไม่เป็นธรรมเปรียบเสมือนกับฝี ในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมที่ผ่านมาฝีนั้นก็แตกง่ายเสียจนตามเช็ดตามเก็บไม่ทัน ปัญหาที่เกิดกับแรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ เกษตรกร ล้วนปรากฏตัวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ตรงโน้นตรงนี้ กลายเป็นปัญหาที่รับมือและแก้ไขยากนักหนาในภาวะวิกฤติ

ทำไมเราต้องสนใจผู้คนเหล่านี้? – บางทีเราอาจจะต้องหันไปถามสมพงษ์ เจ้าของโรงงานปอกเปลือกกุ้งก่อนบรรจุแช่แข็งส่งเข้ามาขายตามห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารต่างๆ บางทีเราอาจจะต้องถามส่องศรี สาวออฟฟิสที่ใช้บริการรถรับจ้าง และซื้อของกินของใช้ตามหาบเร่แผงลอยในตลาดนัด  และบางทีเราอาจจะต้องถามตัวเองว่าอาหารที่เรากินทุกวันนี้มาจากไหน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ โครงสร้างแบบไหนที่กำหนดให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังประสบภัย  มากกว่าคนทั่วไป? และ – วิธีคิด จิตสำนึกแบบไหนที่กำกับบังคับบัญชาโครงสร้างเหล่านั้น?

จิตสำนึกใหม่ที่จะนำพาเราไปสู่อนาคตใหม่นั้นมีใบหน้าและดวงตาเป็นอย่างไรหนอ?

๔.๒

นกสองสามตัวส่งเสียงทะเลาะอยู่บนกิ่งต้นกระจงเหนือหัวข้าพเจ้า มดแดงตัวโตแบกเม็ดข้าวไต่อยู่บนกางเกง ข้าพเจ้าปรบมือไล่นกเกเรไปรอบหนึ่ง ก่อนดีดมดแดงให้หล่นลงไปบนพื้น แต่นกยังไม่หยุดร้อง เงยหน้าขึ้นไปมองเห็นรังนกเบ้อเริ่มอยู่ด้านบน เลยได้แต่ยอมแพ้ ใครเลยจะไล่นกขี้โวยวายออกจากรังของมันได้

อย่างไรก็ดี – ข้าพเจ้านึก – หากโลกมองมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เสาะแสวงหาแต่ความขัดแย้งและเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่สุดไม่สิ้น ทั้งต่อเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน ต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน และต่อภูเขา ทะเล อากาศ ป่าไม้ สักวันโลกอาจจะเอื้อมนิ้วมือมาดีดเราเบา-เบาเหมือนที่ข้าพเจ้าดีดเจ้ามดตัวนั้นก็เป็นได้

กาลครั้งหนึ่งของความยุติธรรม

5 ก.ค.

โดย ชลนภา อนุกูล

-๑-

            กาลครั้งหนึ่ง ผู้คนได้รับการเชื้อเชิญเข้ามาในมหาสภา เพื่อร่างธรรมนูญในการจัดระเบียบโครงสร้างของสังคมร่วมกัน

ผู้คนเหล่านี้ มีทั้งหญิง ชาย เด็ก คนแก่ ศาสนิกชน นักกีฬา นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจ ตำรวจ ทหาร ปราชญ์ชาวบ้าน

มหาสภาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ มีระเบียบอยู่ว่า หลังจากร่างธรรมนูญเสร็จสิ้น ผู้ที่ร่วมร่างธรรมนูญจะต้องถึงแก่อายุขัยพร้อมกัน และต้องไปเกิดใหม่ในสังคมที่อยู่ภายใต้ธรรมนูญที่ร่วมกันร่างขึ้นมา โดยไม่ทราบได้ว่า ตนเองจะไปเกิดเป็นใคร

เขาหรือเธอเหล่านั้นอาจจะเกิดไปเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคนผิวขาว ผิวเหลือง ผิวสี ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดในครอบครัวร่ำรวยหรือยากจนก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปนับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู หรือไร้ศาสนา ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคนพิการ วิกลจริต หรือปรกติ ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคน สัตว์ หรือพืช ก็ไม่รู้ได้

จะเกิดไปเป็นโฮโมหรือเฮเทโรเซ็กชวลก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นหมอ พยาบาล ผู้ป่วย ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคนไทย หรือพม่า ลาว เขมร ที่ลี้ภัยมาอยู่เมืองไทย ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน คนทำรัฐประหาร กลุ่มประท้วง ก็ไม่อาจรู้ได้

คำถามก็คือ – ธรรมนูญสังคมที่ผู้คนกลุ่มนี้จะร่วมกันร่างมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

 

-๒-

            กาลครั้งหนึ่ง จอห์น รอลส์ (ค.ศ. ๑๙๒๑ – ๒๐๐๒) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และนักปรัชญาชาวอเมริกัน ได้เสนอแนวคิดที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในแวดวงปรัชญาการเมืองแบบเสรีแนวคิดหนึ่ง นั่นคือ “ความยุติธรรมในฐานะความเป็นธรรม” ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐาน ๒ ประการ

๑.    ทุกคนย่อมได้รับสิทธิและเสรีภาพในกรอบที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ปกป้องคุณค่าแห่งความเป็นธรรมไว้

๒.    ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไข ๒ ประการ คือ หนึ่ง ขึ้นกับตำแหน่งหน้าที่การงาน ทั้งนี้ ทุกคนต้องมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงตำแหน่งหน้าที่การงานนั้น และสอง ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสในสังคมนั้น

โดยนัยยะนี้ การละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนย่อมกระทำมิได้ และการกระจายรายได้ต้องเน้นประโยชน์ของคนยากคนจนหรือคนเล็กคนน้อยให้มากที่สุด

-๓-

            กาลครั้งหนึ่ง นักปรัชญาสำนักต่างๆ พยายามนำเสนอนิยามความหมายของความยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมเชิงกระจาย หรือความยุติธรรมในฐานะความเป็นธรรม เน้นที่ผลลัพธ์โดยพิจารณาจากประโยชน์ของทุกฝ่ายในสังคม

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมเชิงกระบวนการ เน้นที่กระบวนการได้มาซึ่งกฎหมาย และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่ใช้วิธีไกล่เกลี่ยระหว่างคู่กรณีเมื่อเกิดความขัดแย้ง

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมแบบแก้แค้นทดแทนผู้ถูกละเมิด ด้วยการยอมรับว่าการลงโทษผู้กระทำผิดนั้นชอบธรรมแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการจำกัดอิสรภาพหรือประหารชีวิตด้วยวิธีต่างๆ

ฯลฯ

-๔-

            กาลครั้งหนึ่ง แอร์นส์ แฟร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวสวิส ผู้โดดเด่นจากงานวิจัยที่หลอมรวมองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ประสาทวิทยา และจิตวิทยาเข้าไว้ด้วยกัน เคยกล่าวว่า ความยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ

กาลครั้งหนึ่ง ซาราห์ บรอสนัน นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ได้ยืนยันงานของแอร์นส์ แฟร์ด้วยการทดลองฝึกลิงหน้าขาว ๒ กลุ่ม ซึ่งลิงกลุ่มหนึ่งจะได้รับรางวัลเมื่อทำแบบทดสอบได้ดี แต่อีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับรางวัลทุกครั้งแม้จะทำแบบทดสอบดีบ้างไม่ดีบ้างหรือไม่ได้ทำด้วยซ้ำ เมื่อลิงอีกกลุ่มมองเห็นความไม่ยุติธรรมดังกล่าวก็ปฏิเสธที่จะทำแบบทดสอบหลังจากนั้นทันที

กาลครั้งหนึ่ง ลิงยังรู้จักความยุติธรรม

๕-

            กาลครั้งหนึ่ง ในโลกที่มีลิงรู้จักความยุติธรรม และมีผู้ชำนาญการต่างๆ นิยามความยุติธรรม

ในปีค.ศ. ๑๙๗๓            ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน คนที่ ๓๗ ของสหรัฐอเมริกา สั่งให้ไล่อัยการพิเศษ อาร์คิบาล ค็อกซ์ ที่กำลังสืบสวนคดีวอเทอร์เกต ซึ่งเกี่ยวพันกับการกระทำผิดของประธานาธิบดี หัวหน้าอัยการและรองหัวหน้าอัยการปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งอันไม่ชอบธรรมนั้น และประท้วงด้วยการลาออก อัยการอาวุโสที่เหลืออยู่และสยบยอมต่อประธานาธิบดีเป็นผู้ไล่ค็อกซ์ออก

หลังจากนั้นไม่ถึงปี ริชาร์ด นิกสัน ต้องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี ด้วยหลักฐานแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ๓๖ ครั้ง และถูกศาลสูงบังคับให้มอบเทปบันทึกเสียงในทำเนียบรัฐบาลออกมา เขาต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเพื่อหนีการดำเนินคดีในชั้นศาล และได้รับการจดจำในฐานะประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงเสื่อมเสียมากที่สุด แทนที่จะเป็นวีรบุรุษสันติภาพในฐานะผู้ยุติสงครามเย็นกับรัสเซีย เชื่อมสัมพันธไมตรีกับจีน และยุติสงครามเวียดนามอันยืดเยื้อยาวนาน

กาลครั้งหนึ่ง ประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องนี้ไว้            วิกิพีเดียก็เขียนไว้

-X-

กาลครั้งหนึ่ง

ไม่ว่าวงล้อของกาลเวลาจะหมุนไปอีกกี่กัปป์กัลป์

ไม่ว่าเราจะเกิดใหม่หรือไม่เกิดเป็นใครหรืออะไร

ไม่ว่าโลกยุคหน้าจะเป็นยุคอวกาศเหมือนสตาร์เทร็กหรือสตาร์วอรส์หรือไม่ หรือกลับคืนสู่ยุคหินที่ผู้คนไม่ใส่เสื้อผ้าหรือไม่

ไม่ว่าจะมีกี่สำนัก กี่นิยาม มีศาล อัยการ ตำรวจ ทนาย นักกฎหมาย บอกเราว่าความยุติธรรมเป็นอย่างไร – ทั้งที่แม้แต่ลิงก็ยังรู้

 

กาลครั้งหนึ่ง เรายังถามอยู่ว่า – ต้องใช้ความรู้ จิตและใจแบบไหนจึงจะสร้างความยุติธรรมและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม?