Tag Archives: วัชรยาน

พุทธศาสนาแบบทิเบต

23 ก.ย.

โดย ชลนภา อนุกูล แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน Die Lehren des tibetischen Buddhismus ซึ่งแปลจากภาษาอังกฤษ The World of Tibetan Buddhism

อุบายขจัดโกรธ

11 ก.ค.

อุบายขจัดโกรธ
ชลนภา อนุกูล

แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน Was aber ist Glück?: Fragen an den Dalai Lama
ซึ่งแปลจากภาษาอังกฤษ Healing Anger: The Power of Patience From a Buddhist Perspektive
โดย ทะไล ลามะ

เตรียมตัวตายอย่างมีสติ

2 ก.พ.

แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล

“การศึกษาของมนุษย์ตั้งแต่นี้ต่อไป ควรศึกษาอย่างได้สมดุลทั้งวัตถุธรรมและนามธรรม ไม่ควรเอียงจนจมไปในทางวัตถุธรรมแต่ถ่ายเดียว หนังสือเรื่อง เตรียมตัวตายอย่างมีสติ ของ ส. ศิวรักษ์ เล่มนี้ เป็นเรื่องนามธรรม ถ้าท่านอ่านโดยใช้อหังการทางวัตถุธรรมเข้าสัมผัส ท่านจะประสบความหงุดหงิดอึดอัดขัดข้อง แต่ถ้าท่านอ่านด้วยมนสิการว่าเป็นเรื่องนามธรรม ท่านก็จะเกิดสันติสัมผัส และได้รับประโยชน์ตั้งแต่เริ่มต้น”

ประเวศ วะสี

หลายคนมองว่าความตายนั้นเป็นเรื่องไกลตัว เมื่อยังอยู่ในวัยเด็กหรือหนุ่มสาว เราก็มักจะนึกว่าความตายเป็นเรื่องที่ตามมาภายหลังความแก่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความตายเป็นสมบัติที่ติดตัวมากับชีวิตนั้นเทียว แค่ลองนึกดูว่า วันใดวันหนึ่งเราเดินออกจากบ้าน แล้วเกิดอุปัทวเหตุรถวิ่งเข้ามาชน เพียงเท่านี้เราก็จะรู้สึกได้ว่าความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกนาที หากความตายเป็นการจากลาชั่วนิรันดร์ มันก็อาจจะมาหาอย่างรวดเร็วจนมิทันกล่าวคำร่ำลากับใคร

ข้าพเจ้าเคยตั้งคำถามกับใครบางคนว่า เชื่อเรื่องตายแล้วเกิดไหม ก็ได้รับคำตอบว่าหากเป็นชาวพุทธที่เชื่อเรื่องกรรมสะสมต่อเนื่อง ก็คงจะต้องเชื่อว่าตายแล้วเกิดเหมือนกัน แต่คนยุคใหม่หลายคนก็ยืนยันกับข้าพเจ้าว่า เขาหรือเธอไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด และสนใจแต่ว่าจะทำชีวิตปรัตยุบันนี้ให้ดีที่สุดอย่างไร ข้าพเจ้าเลยสนใจว่าคำถามเรื่องตายแล้วเกิด จริง ๆ แล้วเป็นคำถามที่เราควรจะหาคำตอบหรือไม่

ในทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้มิได้หมายความว่าไม่มีอยู่จริง วิทยาศาสตร์นั้นวัดได้เฉพาะวัตถุ สิ่งที่จับต้องได้ รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส จึงมีข้อจำกัดในตัวเอง แม้ศาสตร์ของฟรอยด์ว่าด้วยการทำความเข้าใจจิตใจของมนุษย์ ก็ยังถือว่าไม่สามารถอธิบายอะไรต่อมิอะไรได้ ข้าพเจ้าจึงหันกลับมาหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ได้แก่ภูมิธรรมในศาสนาพุทธ

แต่ก่อนข้าพเจ้ารังเกียจคำอธิบายว่าด้วยนรกสวรรค์ ชาตินี้ชาติหน้า โดยเหตุที่มองว่าเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ แม้อาจารย์พุทธทาสก็ยังปฏิเสธที่จะอธิบาย เพราะให้เหตุผลว่าไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อข้าพเจ้ามองไปยังสายวัชรยาน ชาวทิเบตซึ่งเป็นชนชาติที่้เลื่อมใสในพุทธศาสนายิ่ง กลับเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดอย่างแน่วแน่ บางคนอาจจะค่อนว่า เพราะเชื่ออย่างล้าหลังไม่ทันโลกอย่างนี้สิ ถึงต้องสูญเสียอิสรภาพให้กับจีน แต่เมื่อมองไปที่ชาวทิเบตและแม้แต่ผู้นำชาวทิเบตอย่างจริงจัง ก็จะพบว่าอหิงสธรรมนั้นเป็นหลักที่ฝังแน่นอยู่ในการกระทำตั้งแต่ต้นจดปลาย ทั้งยังกลายเป็นว่าผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตนี้แหละ ที่เป็นพยานของผลการปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เป็นผู้ที่ธำรงตนอยู่เหนือโลก มิได้โกรธแค้นศัตรูทางการเมืองของตน ทั้งยังแสดงเมตตาต่อชาวจีน ในข้อที่ทำผิดเพราะมีอวิชชา ทำให้ชาวโลกเลื่อมใส และหันมาให้ความสนใจในพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ผู้ที่มีความเชื่ออย่างที่เราเรียกว่าล้าหลังเช่นนี้ ความเชื่อของเขานั้นล้าหลังจริงหรือไม่ หรือเป็นว่าเราเองต่างหากที่ไม่รู้อะไรเอาเสียเลย

เมื่อค้นอ่านตำราของท่านอาจารย์พุทธทาส แม้กระทั่งคำสัมภาษณ์สุดท้ายของท่าน ท่านก็ยืนยันว่าท่านมิได้ปฏิเสธว่าชาตินี้ชาติหน้าไม่มี เป็นแต่ท่านเห็นว่าของเดิมพูดกันมามากแล้ว มากเสียจนคนมุ่งทำบุญทำกุศลเพื่อชาติหน้าเป็นส่วนใหญ่ ท่านเป็นแต่พยายามบอกว่าทำชาตินี้ก็ได้ และพยายามผลักดันให้คนเห็นความสำคัญของชาตินี้มากขึ้น แต่ถ้าหากยึดถือแต่เพียงชาตินี้อย่างเดียว ก็อาจกลายเป็นมิจฉาทิฐิได้เช่นเดียวกันกับที่ยึดถือแต่เรื่องชาติหน้าอย่างเดียว

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จึงเสนอว่าเราควรจะถืออรรถประโยชน์ไว้สามขั้นตอน คือ (๑) ประโยชน์ในชาตินี้ (๒)ประโยชน์ในชาติหน้า และ(๓)นิพพาน ไม่ควรจะตัดรอนไปด้านใดด้านหนึ่ง พื้นฐานความคิดทางวัชรยานเองก็สามารถนำมาอธิบายเรื่องขันธ์ห้าได้ละเอียด เป็นที่เข้าใจมากขึ้น ทั้งทรรศนะเรื่องความตายของคนทิเบต ก็ไม่ต่างกับมรณานุสติของไทยแต่ก่อน น่าจะนำมาปรับใช้ได้

หนังสือเล่มนี้ของสุลักษณ์ ศิวรักษ์แบ่งเป็นห้าส่วน โดยเริ่มจาการปูพื้นฐานความรู้เรื่องนิกายวัชรยานก่อน ตามด้วยพระนิพนธ์ของทะไล ลามะ ว่าด้วยการตายและเกิดใหม่และอันตรภพ (สถานภาพระหว่างตายแล้วเกิด) ต่อด้วยการขยายความพระนิพนธ์ก่อนอธิบายคัมภีร์ เพื่อสร้างความเข้าใจโดยคร่าว

จากนั้นจึงถึงส่วนที่ว่าด้วยคัมภีร์ทางทิเบตชื่อว่า ประทีปส่องให้เห็นความปรากฎแห่งสภาพพื้นฐานทั้งสาม คือ การตาย ระหว่างตายและเกิด และการเกิด ของพระทิเบต ยัง-เจน-กา-เวย์-โล-โดร ซึ่งอธิบายขยายความจากพระนาครชุนเขียนไว้ในภาษาสันสกฤต และพระ ตสอง-กะ-ปะ ได้เขียนอรรถธิบายเพิ่มเติมเป็นภาษาทิเบต ตัวคัมภีร์นี้มีอายุสองร้อยกว่าปี ลามะ ราติ ริมโปเจ เป็นผู้เขียนคำอธิบายเพิ่มเติม ท่านเป็นลามะที่มีความสามารถมาก ปัจจุบัน ส่วนเจฟฟรีย์ ฮอปกินส์ผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ชาวอเมริกัน ผู้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเอเชียใต้ประจำมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย มักจะได้รับการแต่งตั้งเป็นล่ามประจำพระองค์ของ ทะไล ลามะ ในยามที่ท่านเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา

ตอนท้ายของหนังสือเป็นภาคผนวกรวมบทความต่าง ๆ ของสุลักษณ์เกี่ยวกับทะไล ลามะ และของพระไพศาล วิสาโล เกี่ยวกับการทำบุญ และอนุสติจากงานศพ

สุลักษณ์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ภาษา ทั้งมีภูมิรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างที่หาใครเทียบยาก การแปลของเขาจากศัพท์ฝรั่งเป็นบาลีหรือไทย ไม่มีกลิ่นฝรั่งตามมาเลย บทที่ว่าด้วยคำขยายความพระนิพนธ์ก่อนถึงตัวคัมภีร์ ซึ่งเขาเป็นผู้เขียนเอง สร้างความเข้าใจได้ง่าย

หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างอ่านยากในรอบแรก โดยเหตุเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ที่คุ้นเคย แต่เป็นหนังสือที่ปูพื้นฐานสำคัญ ก่อนที่จะลงไปจับกับตัวแก่นแกนทฤษฎีความรู้ของสายวัชรยาน ข้าพเจ้าเคยอ่านเล่มที่ว่าด้วยพุทธศาสนาแบบธิเบตเป็นภาษาเยอรมัน ชื่อในภาษาอังกฤษคือ The world of tibetan Buddhismus ซึ่งสรุปรวมคำสอนของท่านทะไล ลามะในลอนดอนเป็นเวลาสี่วันติดกัน รู้สึกต้องกัดฟันอ่านอย่างมาก ยังดีที่มีหนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือไว้เทียบคำ เมื่ออ่านจบยังค่อนข้างทึ่งไม่หายว่า ในทางทฤษฎีแล้ว เราไม่อาจประมาททางสายวัชรยานได้เลย และเท่าที่สังเกตดู ในช่วงหลังมีหนังสือภาษาไทยหลายเล่มที่แปลมาจากทางทิเบต ผู้สนใจ หากมีโอกาสได้ศึกษาอ่านเพิ่มเติมคงเป็นการดีไม่น้อย