Tag Archives: เยอรมัน

ประวัติศาสตร์เยอรมัน ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐

4 ก.พ.

แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล

ประวัติศาสตร์ยุโรปที่ข้าพเจ้ารู้จัก เห็นจะมีแต่เรื่องปฏิวัติฝรั่งเศส ที่เคยอ่านจากหนังสือการ์ตูนตอนเด็ก เมื่อไปเที่ยวที่ไหนก็อ่านเตรียมแต่ว่ามีสถานที่น่าสนใจที่ไหนบ้าง ไปอยู่ที่ไหนก็อ่านประวัติเมืองอย่างคร่าว พออยู่นานไปก็ลืม สหายผู้หนึ่งยกหนังสือประวัติศาสตร์ยุโรปภาษาไทยให้อ่านสองสามเล่ม เก็บไว้อ่านขณะเดินทางไปไหนมาไหน แล้วก็มีเหตุให้หลงลืมทิ้งไว้บ้านคนอื่น พอถามนักศึกษาด้านประวัติศาสตร์ว่า ควรจะหาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอรมันเล่มไหนดี ก็ถูกย้อนถามกลับมาว่าประวัติศาสตร์ยุคไหนล่ะ ข้าพเจ้าก็นิ่งจังงัง ประวัติศาสตร์เยอรมันมีกี่ยุคกันล่ะ แล้วปรกติเขาเรียนประวัติศาสตร์เยอรมันกันอย่างไร

ความรู้เรื่องนี้ของข้าพเจ้าเท่าหางอึ่ง อยากจับอยากต้องมันบ้าง ขนาดไม่ได้อ้อนวอนให้ใครเล่าให้ฟัง จะขยันไปหาอ่านเอง แต่เริ่มอ่านแบบไหน ดูเหมือนจะหาคนแนะนำยากเหลือเกิน เรื่องประวัติศาสตร์เยอรมันก็เลยทิ้งค้างไว้หลายปี จนกระทั่งเผอิญไปเจอร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่มุมหนึ่งของเมืองโดยบังเอิญ ร้านนี้เงียบสงบเป็นพิเศษ ผู้คนไม่พลุกพล่าน แต่มีหนังสืออย่างที่คัดมาสำหรับพวกหนอนหนังสือโดยเฉพาะ กลางร้านมีโต๊ะเก้าอี้ชุดหนึ่งสำหรับให้นั่งอ่านและดื่มกาแฟ ข้าพเจ้าเดินอ่านแค่ชื่อหนังสือก็ละลานใจ มาสะดุดตาหนังสือปกอ่อนเล่มหนาเตอะวางอยู่บนกองหนังสือหนึ่ง Deutsche Geschichte des 19. und 20. Jahrhunderts พลิกดูสารบาญ อ่านบทนำแล้วก็ประทับใจในทันที

„Ich war jung, als ich meine „Deutsche Geschichte“ schrieb, noch nicht einmal fünfzig. Erlebt, mit mehr Leid als Freude, hatte ich deutsche Geschichte, seit ich, sagen wir, vierzehn Jahre alt war, wobei mir als Ziel und Wunsch immer ein echter Friede vorschwebte, und das konnte nur einer zwischen Deutschland und Frankreich sein. Leider hat das sehr lange gebraucht; wenn nicht, was wäre uns alles erspart geblieben!“

“ข้าพเจ้ายังละอ่อนนัก ตอนที่เขียน “ประวัติศาสตร์เยอรมัน” อายุยังไม่ถึงห้าสิบปีด้วยซ้ำ ถ้าได้เริ่มเผชิญกับความทุกข์โศกมากกว่าความรื่นเริงเบิกบานเสียตั้งแต่ตอนอายุสักสิบสี่ปี ก็คงจะเขียนประวัติศาสตร์เยอรมันได้แล้วใจอย่างที่มุ่งหวังและหมายมั่น แล้วก็คงเป็นแค่เรื่องระหว่างเยอรมันและฝรั่งเศสเท่านั้น น่าเสียดายที่ใช้เวลาเนิ่นนานมาก ทำให้ต้องคอยกันนาน”

นักเขียนผู้นี้ Golo Mann ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่เขาต้องเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว ท่วงทำนองการเขียนนี้ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ทั่วไปจะทำได้ บทนำยังขึ้นต้นได้ดีเพียงนี้ หนังสือเล่มนี้ย่อมคุ้มค่ากับการอ่านแน่นอน

ศาสตราจารย์ผู้มีอายุยืนถึง ๙๕ ปีผู้นี้ กล่าวไม่ผิดหรอก ที่ว่าเขาเขียนหนังสือประวัติศาสตร์เยอรมันเมื่อตอนที่อายุยังน้อย คือ ๕๐ ปี นักประวัติศาสตร์ที่ใช้ภาษาได้งดงามเช่นนี้ย่อมเป็นคนพิเศษยิ่ง ดังนั้น เมื่อเริ่มอ่านไปได้สักพัก ข้าพเจ้าก็ค้นอ่านประวัติโกโล มันน์ จากเว็บไซต์ แล้วก็ถึงบางอ้อว่า เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในตระกูลมันน์ ตระกูลนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ของเยอรมัน ซึ่งประกอบด้วย ไฮน์ริค มันน์ โธมัส มันน์ เคลาส์ มันน์ ฯ จึงไม่น่าแปลกใจถึงฝีไม้ลายมือในการเขียนเหนือนักประวัติศาสตร์ทั่วไป

ข้าพเจ้าไม่รู้หรอกว่าประวัติศาสตร์เยอรมันนับตั้งแต่ปีไหน แต่ปลอบใจตัวเองว่าถ้าพบเล่มที่อ่านแล้วถูกใจ ถึงจะอ่านย้อนไปได้แค่สองร้อยปี ก็คงพอกล้อมแกล้มไปตามหาเล่มอื่นอ่านต่อก็ได้ ดีกว่าปล่อยให้ตัวเองไม่รู้อยู่อีกต่อไป ช่วงนั้นใกล้หยุดคริสต์มาส ให้กำลังใจตัวเองว่าน่าจะหาเวลาอ่านช่วงหยุดสองสัปดาห์ได้ แต่หนังสือหนาร่วมพันกว่าหน้าเล่มนี้ ก็ไม่อาจจะอ่านให้จบในรวดเดียวได้ เพราะนิสัยขี้เบื่อและไม่เคยชินกับการอ่านหนังสือเล่มเดียวของตนเอง กว่าจะอ่านให้จบบทสุดท้ายก็ใช้เวลาร่วมปี แต่ก็ทำให้อ่านนิยายเยอรมันหลายเล่มได้อย่างซาบซึ้งมากขึ้น เพราะวรรณกรรมเยอรมันส่วนใหญ่ ก็อิงอยู่กับกรอบทางประวัติศาสตร์อย่างแนบแน่น และแม้แต่วิวัฒนาการทางความคิดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และปรัชญา ในเยอรมันหรือยุโรปเอง ก็จำต้องมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์รองพื้นอยู่บ้าง จึงจะมองเห็นภาพโดยรวมและดื่มด่ำเข้าใจมากกว่าเดิม

แต่ก่อนนี้ข้าพเจ้าสงกาว่า เหตุใดเรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับเยอรมันค่อนข้างน้อยเหลือเกิน ทั้งที่จำนวนนักศึกษาก็เพิ่มมากขึ้นทุกปี ใคร่ครวญไปมาก็คาดว่า ส่วนใหญ่มาศึกษาทางด้านวิศวกรรม และนักศึกษาด้านวิศวกรรมส่วนใหญ่ ก็คงไม่มีความสนใจอ่านหนังสือด้านประวัติศาสตร์ หรือวรรณกรรม อยู่แล้ว ยิ่งคิดก็ยิ่งเข้าใจแล้วว่า เหตุใดประเทศไทยจึงไม่อาจมีนักอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่อย่างซีเมนส์ อย่างครุปปส์ อย่างเบนซ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้วิสัยทัศน์กว้างขวางยาวไกล คนยิ่งใหญ่เหล่านี้ล้วนแต่เคยเป็นคนเล็กมาก่อน แต่เป็นผู้ใฝ่รู้และรอบรู้ หากวิศวกรไม่อ่านหนังสือเอาเสียเลย จะเนรมิตเทคโนโลยีที่ประกอบด้วยความงามและความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร

โกโล มันน์ เขียนเล่าประวัติศาสตร์เรียงกันเป็นเส้นตรง แต่ด้วยลีลาการเขียนที่มีชั้นเชิงทำให้ไม่น่าเบื่อหน่ายเลย เขาแบ่งย่อยเนื้อหาออกเป็น ๑๒ บท โดยบทแรกให้ข้อมูลพื้นฐานตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยุคชนเผ่า ผ่านยุคอาณาจักรโรมัน มาจนถึงยุคกลาง และยุคเรอเนสซองส์ การปฏิรูปศาสนาของลูเธอร์ สงครามสามสิบปี กระทั่งถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส บทถัดมาเขาค่อยดำเนินเหตุการณ์ตั้งแต่ผลกระทบของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ มาจนถึงการปฏิวัติเดือนมีนาคมที่ฟรังค์เฟริ์ต ค.ศ. ๑๘๔๘ ยุคที่เยอรมันถูกปกครองโดยราชวงค์ฮับส์บวร์ก และปรัสเซีย ภายใต้การนำของบิสมาร์ก พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์ม และฮิตเลอร์ ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง และจบลงด้วยการแบ่งประเทศเยอรมันออกเป็นสองส่วน

แม้เขาจะเขียนเล่าเหตุการณ์ไล่เรียงไปตามปีค.ศ. ต่าง ๆ แต่ก็ให้ภาพแนวราบของแต่ละยุคสมัยได้อย่างรอบด้านแจ่มชัด เขาเล่าเหตุการณ์ค่อนข้างละเอียด พร้อมกับให้ภาพบุคคลที่มีบทบาทในแต่ละยุค ชนชั้นผู้นำทั้งฝ่ายการเมือง ปัญญาชน เราจะพบกับเฮเกล ไฮน์ริค ไฮน์ คาร์ล มาร์กซ์ ลาซาล บิสมาร์ก ฟรีดดริค นิตเช อเดเนาเออร์ เป็นต้น เป็นดังใบหน้าแห่งประวัติศาสตร์ระหว่างการดำเนินเรื่องไปพร้อม ๆ กัน บทที่ ๑๑ ซึ่งบรรยายถึงรัฐนาซีนั้น โกโล มันน์ จงใจที่จะเอ่ยนามของตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์แต่เพียงชื่อย่อ โดยเรียกว่า ฮ. ตลอดทั้งบท ตัวเขาเองก็คงรู้สึกดังที่คอนราด อเดเนาเออร์รู้สึกว่า ช่วงสงครามนั้นเขารู้สึกรังเกียจประเทศเยอรมันของตัวเองยิ่งนัก แต่ครั้นได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมันตะวันตก ก็จำต้องสร้างความรู้สึกเคารพประชาชนเยอรมันของตนขึ้นมาใหม่

ขณะที่เขียนหนังสือเล่มนี้เสร็จสิ้นในปีค.ศ. ๑๙๕๘ สิบสามปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเยอรมันถูกแบ่งเป็นสองส่วน ผู้คนยังคงบอบช้ำจากสงคราม แต่ก็สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว โกโล มันน์ มุ่งหวังว่าการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์จะทำให้มนุษย์หลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้ เรายังสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของเขาในการถูกแบ่งประเทศ และมองเห็นความมุ่งหวังอย่างแรงกล้า ที่จะสร้างสัมพันธภาพระหว่างเยอรมันและโลกขึ้นมาใหม่ เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพที่แท้

ตัวเขาเองยืนยันว่า ประวัติศาสตร์เยอรมันนั้นน่าพิศมัยในข้อที่ว่า ชนชาติเยอรมันซึ่งเคยเต็มไปด้วยนักคิด นักปรัชญา และกวี ก็กลับกลายมาเป็นชนชาติที่ใฝ่ใจการเมือง มุ่งมั่นทางวัตถุ และโหดร้ายได้ และก็กลับมาเป็นนักลงทุน นักอุตสาหกรรม และเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลกได้อีกครั้ง ดังที่ฟรีดดริค นิตเช นักปรัชญาเยอรมันเคยกล่าวไว้ว่า ชนชาติเยอรมันยังคงเป็นชนชาติที่ยังมาซึ่งความประหลาดใจต่อชาวโลกได้อยู่เสมอ

เกี่ยวกับผู้เขียน

golo_mann

โกโล มันน์ (ค.ศ. ๑๙๐๙ – ๑๙๙๔) ภายหลังจบการศึกษาจากโรงเรียน ก็เข้ารับการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก และทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกกับคาร์ล ยัสเปอร์ นักปรัชญาแห่งยุค ในปี ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาได้ลี้ภัยทางการเมืองไปที่ฝรั่งเศสพร้อมกับไฮน์ริค มันน์ ผู้เป็นลุง และไปเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยที่ซังค์ คลาวด์ และร็อง ช่วงปี ค.ศ. ๑๙๓๗ – ๑๙๔๐ ก็เข้าร่วมทำงานเป็นกองบรรณาธิการวารสาร “ปริมาณและคุณค่า” ในซูริค ที่โธมัส มันน์ บิดาของเขา เป็นบรรณาธิการ จากนั้นก็หลบหนีกองทัพเยอรมันไปที่สหรัฐอเมริกา และได้สอนประวัติศาสตร์ที่วิทยาลัยโอลิเวอร์ และวิทยาลัยชายแคลร์มองต์ ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๕๘ – ๑๙๖๐ เป็นศาสตราจารย์พิเศษที่มึนสเตอร์ และช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๐ – ๑๙๖๔ เป็นอาจารย์ประจำด้านรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชตุตการ์ต

งานเขียนของเขาหลายชิ้นได้รับรางวัลสำคัญมากมาย เป็นต้นว่า รางวัลบึคเนอร์ ปี ค.ศ. ๑๙๖๘ รางวัลก็อตฟรีด เคลเลอร์ ปี ค.ศ. ๑๙๖๙ รางวัลเกอเธ่ ประจำเมืองฟรังค์เฟิร์ต อัม มายน์ ปี ค.ศ. ๑๙๘๖ เป็นต้น โกโล มันน์ ยังเป็นหนึ่งในบรรณาธิการผู้จัดทำหนังสือชุดประวัติศาสตร์ ของสำนักพิมพ์โพรพือเลน

งานเขียนสำคัญ

  • ฟรีดดริค แห่ง เกนซ์ (ค.ศ. ๑๙๔๗)
  • จิตวิญญานอเมริกัน (ค.ศ. ๑๙๕๔ / ๑๙๖๑)
  • เรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ (ค.ศ. ๑๙๖๑)
  • วัลเล็นชไตน์ (ค.ศ. ๑๙๗๑)
  • ความพยายามสิบสองครั้ง (ค.ศ. ๑๙๗๓)
  • กาลเวลาและบุคคล (ค.ศ. ๑๙๗๙)
  • ความคิดและความทรงจำ วัยเยาว์ในเยอรมัน (ค.ศ. ๑๙๘๖)
  • เราเป็นอย่างที่เราอ่าน (ค.ศ. ๑๙๘๙)
  • บทส่งท้าย ความคิดและความทรงจำ การสอนในฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๙๙๘)

คำขอโทษที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์

19 ธ.ค.

โดย ชลนภา อนุกูล

 

การคุกเข่าของวิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ที่หน้าอนุสาวรีย์วีรชนชาวโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ถือได้ว่าเป็นการขอโทษที่มีความหมายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดและถูกจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

วิลลี บรันดท์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓ ของเยอรมันช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมันคนแรกที่เดินทางไปเยือนโปแลนด์ ประเทศที่เคยถูกเยอรมันและรัสเซียเข้ายึดครอง และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีชาวโปแลนด์ถูกฆ่าตายด้วยฝีมือนาซีจำนวน ๖ ล้านคน

ขณะที่ไปเยือนอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี โดยไม่มีใครคาดคิด วิลลี บรันดท์ ได้คุกเข่าลงทั้งสองข้าง ภาพนี้เป็นข่าวไปทั่วโลก มีผู้ถามบรันดท์ในภายหลังว่า เขาได้วางแผนหรือทำไปด้วยความรู้สึกโดยอัตโนมัติ เขาตอบแต่เพียงว่า ขณะนั้น เวลานั้น ต้องมีผู้ทำอะไรสักอย่าง

ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการขอโทษครั้งนี้ ก็คือการขอโทษในฐานะตัวแทนของชาวเยอรมันทั้งหมด วิลลี บรันดท์ มิใช่ผู้นำเยอรมันในการทำสงคราม ชาวเยอรมันรุ่นเขาแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสงครามเลยก็ว่าได้ เขาเป็นเพียงลูกหลานของบรรพบุรุษผู้เคยกระทำผิด ในฐานะผู้นำของประเทศที่เคยกระทำผิดทางประวัติศาสตร์กับประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง และในภาวะที่คำพูดไร้ซึ่งความหมาย – เขาได้คุกเข่าลง

เยอรมันเป็นประเทศที่ก่อสงครามโลกทั้งสองครั้ง และตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามทั้งสองครั้ง ภารกิจของผู้นำเยอรมันภายหลังสงครามนอกจากการบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายแล้ว ยังต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนเกียรติยศของประเทศเพื่อจะกลับเข้าร่วมวงษ์ไพบูลย์กับนานาประเทศดังเดิม

วิลลี บรันดท์เดินทางไปโปแลนด์เพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญากรุงวอร์ซอ ผลของสนธิสัญญา เยอรมันสูญเสียดินแดน ๑ ใน ๔ ของอาณาจักรไรซ์เดิมให้กับโปแลนด์ ชาวเยอรมันที่ตกค้างในโปแลนด์จำต้องอพยพกลับสู่เยอรมัน ชาวเยอรมันบางส่วนไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญานี้ แต่บรันดท์ชี้แจงว่า เยอรมันจำต้องจ่ายสิ่งเหล่านี้คืนให้กับความสูญเสียจากสงครามเพื่อที่จะตัดห่วงโซ่แห่งความอยุติธรรมที่เป็นผู้ก่อขึ้น

ส่วนกรณีที่เขาคุกเข่าต่อหน้าอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์นั้น จากผลของแบบสอบถาม ชาวเยอรมันกว่าครึ่งนั้นไม่เห็นด้วย แต่ผู้ที่เห็นด้วยกับเขาล้วนเป็นหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ ตัววิลลี บรันดท์เองก็ได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างสูง เขาได้คลี่คลายปัญหาเขตแดนเยอรมันและโปแลนด์ สลายภาวะตึงเครียดช่วงสงครามเย็นระหว่างค่ายประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ และสมานบาดแผลที่นาซีเยอรมันเคยกระทำไว้กับเพื่อนบ้าน ปีถัดมาเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเป็นชาวเยอรมันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล เขาได้นำเยอรมันก้าวออกมาจากความมืดมิดเข้ามาสู่แสงสว่างแห่งการยอมรับของประชาคมโลกอย่างสง่าผ่าเผย และแม้ในยุคสมัยปัจจุบัน วิลลี บรันดท์ก็ถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รักของชาวเยอรมันมากที่สุด

การขอโทษย่อมมิอาจเกิดขึ้นได้จากการบิณฑบาตร้องขอ และคำขอโทษอันยิ่งใหญ่นี้จักเกิดขึ้นมิได้เลยหากปราศจากหัวใจและปัญญา หัวใจนั้นทำให้มองเห็นความทุกข์ร้อนของผู้อื่นเป็นเช่นเดียวกับของตน ส่วนปัญญานั้นทำให้พิจารณาไตร่ตรองถึงสิ่งที่พึงกระทำบนพื้นฐานของจริยธรรม การก้าวข้ามผ่านด่านแห่งศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นอัตตาความหลงทะนงตน ความภาคภูมิใจในพวกพ้อง บรรพบุรุษ ชาติ ไปสู่ประตูแห่งเกียรติยศ คือการกระทำในสิ่งที่พึงกระทำ หยามทำลายศักดิ์ศรีตนด้วยวีระกล้าหาญที่นำพาไปสู่ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ประวัติศาสตร์ย่อมไม่บันทึกการกระทำที่ง่ายดาย

ในกรณีของปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดภาคใต้นั้น หากชนชั้นนำของสังคมไทยได้ตระหนักรู้พลังอันยิ่งใหญ่ของการขอโทษ กระบวนการขอโทษที่แม้จะปราศจากคำพูด  ดังเช่น การสอบสวนและลงโทษกรณีเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิดในการประกอบอาชญากรรมต่อประชาชนมุสลิม การให้อิสระต่อสังคมไทยในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางภาคใต้ การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีหลักประกันในสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เหล่านี้ ย่อมเป็นคำขอโทษที่ยิ่งใหญ่ ล้ำค่ำ และมีความหนักแน่นจริงใจเสียยิ่งกว่าวาทกรรมแห่งความเสียใจ ชนชั้นทางปัญญาของไทยควรจะผลักดันให้เกิดกระบวนการขอโทษนี้ให้มาก เพราะเราพึงเห็นใจว่าปุถุชนย่อมมีความอาลัยอาวรณ์ศักดิ์ศรีตน หากติดกับดักชนิดนี้เข้าเสียแล้ว ย่อมก้าวล่วงเข้าสู่แดนเกียรติยศได้ยาก

ประเทศไทยไม่เคยก่อสงครามโลกก็จริง แต่รัฐไทยเคยก่ออาชญากรรมต่อพลเมืองของตนมาแล้ว กลางหัวใจเมืองข้างกำแพงพระบรมมหาราชวังอย่างน้อยก็สองหนภายในเวลาสามปี ในถิ่นไกลปืนเที่ยงนับอีกไม่ถ้วน เฉพาะภาคใต้เอง นับจากกรณีอุ้มฮะหยีสุหรงไปถ่วงทะเลสาบสงขลา มาจนถึงอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีกรือเซะ กรณีตากใบ หากแผลเป็นทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ถูกเยียวยา ก็จักกำเริบเกิดเป็นแผลใหม่ให้ได้รับความทุกข์ร้อนอยู่ไม่สิ้นสุด

คำขอโทษที่มีความหมายยิ่งใหญ่ กำลังรอให้หัวใจและสติปัญญาในสังคมไทย มาร่วมกันบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของวันพรุ่ง

นักฟิสิกส์

20 ก.ย.

นักฟิสิกส์
แปลจาก Die Physiker
ของ ฟรีดดริก เดือเร็นมัทท์
โดย ชลนภา อนุกูล

เกมลูกแก้ว

29 ม.ค.

แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล

Das Glasperlenspiel หรือชื่อในภาษาไทย เกมลูกแก้ว เป็นงานเขียนชิ้นสุดท้าย และชิ้นสำคัญของแฮร์มันน์ เฮสเส ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงปีค.ศ. ๑๙๓๑ – ๑๙๔๒ ขณะนั้นฮิตเลอร์เพิ่งขึ้นมามีอำนาจในปีค.ศ. ๑๙๓๓ และนำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในระหว่างปีค.ศ. ๑๙๓๙ – ๑๙๔๕

เฮสเสเขียนงานชิ้นนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะฟื้นฟูจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ที่แตกสลายและถูกทำลายไปจากผลของสงคราม ขณะที่เขียนนั้นเขาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ และในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง เขาต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย และพลเมืองยุโรป ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวเยอรมัน งานเขียนจึงต้องสะดุดลงหลายครั้ง และใช้ระยะเวลานานเป็นพิเศษกว่าจะสิ้นสุดลงในปีค.ศ. ๑๙๔๒

ต้นฉบับตัวจริงได้ถูกส่งเป็นพัสดุไปรษณีย์ลงทะเบียนไปถึงบรรณาธิการกัลยาณมิตร ปีเตอร์ ซัวร์คัมป์ แห่งสำนักพิมพ์เอส. ฟิชเฌอร์ ในเบอร์ลิน แต่งานเขียนของเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ถูกตีพิมพ์โดยคำสั่งห้ามจากนาซี ทั้งซัวร์คัมป์เองก็ถูกนาซีหาเหตุกักขังจำคุกเกือบตาย ดีที่กัลยาณมิตรของเขาช่วยเหลือจนรอดชีวิตออกมาได้ และหลังสงครามในปีค.ศ. ๑๙๔๖ ก็ได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ซัวร์คัมป์ขึ้นมา และได้ตีพิมพ์งานของเฮสเสตลอดมา

เฮสเสรู้สึกผิดหวังที่กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายของเขาไม่มีโอกาสที่จะได้อ่านงานชิ้นนี้ อย่างไรก็ตามด้วยความกังวลที่ต้นฉบับจะสูญหายไปในภาวะสงคราม จึงได้ให้สำนักพิมพ์ในสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือบางเล่มได้หลุดรอดถึงมือผู้อ่านในเยอรมันได้บ้างช่วงสงคราม และแพร่หลายในเยอรมันเป็นอย่างยิ่งในภายหลังโดยสำนักพิมพ์ซัวร์คัมป์

เกมลูกแก้ว – ความพยายามในการเขียนชีวประวัติของอาจารย์ลูดี โยเซฟ คเนคชท์ รวมทั้งข้อเขียนของเขา – เป็นขยายความของหนังสือบนหน้าปก เฮสเสเขียนเล่าเรื่องชีวประวัติของคเนคชท์ เด็กชายผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี จนได้รับเลือกให้เข้าไปศึกษาในสถานศึกษาชั้นนำของดินแดนคาสตาเลีย ได้ศึกษาเกมลูกแก้ว ศาสตร์ชั้นสูงที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ต่างสาขา เลือกวิถีชีวิตในการเป็นนักบวชในนิกายคาสตาเลีย จนกระทั่งได้รับตำแหน่งอาจารย์ลูดีซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของผู้เชี่ยวชาญเกมลูกแก้ว ต่อมาได้ละทิ้งหนทางนั้นออกมาสู่โลก เพื่อทำหน้าที่เป็นครูประจำตัวธรรมดาของเด็กคนหนึ่ง แล้วก็เสียชีวิตโดยการจมน้ำในการว่ายน้ำในทะเลสาบบนเขาเพื่อเอาชนะใจศิษย์น้อย

เฮสเสได้เขียนจดหมายถึงออตโต ฮาร์ตมันน์ ผู้เป็นสหายว่า เรื่องนี้เป็น “ปลายทางสุดท้ายของชีวิตและของบทกวี” งานเขียนที่อยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่ายนั้น นำเสนอชีวิตของคเนคชท์ ดินแดนยูโธเปียอย่างคาสตาเลีย และเกมลูกแก้ว

เขาได้แสดงให้เห็นว่าชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นไปตามลำดับขั้น มนุษย์นั้นนอกจากจะเติบโตทางกายภาพ ในทางจิตวิญญาณเขาก็สามารถเติบโตไปด้วยพร้อมกัน แม้ในชีวิตยังมีความขัดแย้งภายใน แต่มนุษย์ยังมีหน้าที่ที่จะดำรงความสงบในภายนอกไว้ให้ได้ การตรวจสอบตนเองนั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการศึกษา – ซึ่งเฮสเสได้ให้ความหมายว่าเป็นการพัฒนาตนเอง เป็นเครื่องมือนำไปสู่จิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ความมีสติรู้ที่จะดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข เป้าหมายของการศึกษานั้น มิได้อยู่ที่การเพิ่มพูนความสามารถหรือศักยภาพของปัจเจกชน แต่อยู่ที่การช่วยให้ชีวิตมีความหมาย เข้าใจอดีตได้อย่างถ่องแท้ และทำให้ไม่หวั่นหวาดกับอนาคต – ดังที่เขาให้คเนคชท์นั้น เขียนบันทึกชีวประวัติของตน เราสามารถทำความเข้าใจคเนคชท์ และหรือเฮสเสได้จากการงานเขียนท่วงทำนองชีวประวัตินั้นได้อย่างไร ยิ่งน่าสนใจว่าเราจะเข้าใจตนเองได้ในทำนองเดียวกันหรือไม่

“Je schaerfer und unerbittlicher wir eine These fordern, desto unwiderstehlicher ruft sie nach der Antithese.”

“ยิ่งเห็นดีเห็นงามกับทฤษฎีใด ทฤษฎีที่ขัดแย้งยิ่งเด่นชัดขึ้น”

เฮสเสยังได้เสนอภาพดินแดนยูโธเปียอย่างคาสตาเลีย ระบบการศึกษาที่ดิ่งลึกลงไปในการหาความลับของโลก เขาให้ภาพงดงามของดินแดนในอุดมคติ แต่ขณะเดียวกันก็โจมตีการแยกตนโดดเดี่ยวของชนชั้นปัญญาชน ที่ไม่สนใจความเป็นไปของโลก เขายืนยันอย่างชัดเจนว่าระบบการศึกษานั้นเป็นไปเพื่อสังคมโดยรวม เพราะโดยเหตุที่สังคมเคยจมจ่อมล่มสลาย คาสตาเลียจึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อค้นหาวิถีทางแห่งการพัฒนาตน และเมื่อคาสตาเลียอยู่ในความศิวิไลซ์ในขณะที่โลกเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย จึงเป็นความเห็นแก่ตัวและอกตัญญูอย่างยิ่ง หากชนชั้นปัญญาชนแยกตัวออกจากโลก เพียงเพื่อบรรลุถึงความเร้นลับในจิตวิญญาณของตน ทั้งไม่คำนึงถึงว่าราคาของปัญญาและศานติที่ตนเองมีอยู่นั้น ใครเป็นผู้เสียสละจ่ายให้

“Je hoeher die Bildung eines Menschen, je groesser die Privilegien, die er genoss, desto groesser sollen im Fall der Not die Opfer sein, die er bringt.”

“บุคคลใดยิ่งได้รับการศึกษาสูงขึ้น ได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้น ยิ่งทำให้มีเหยื่อแห่งความสูญเสียเพิ่มขึ้น”

เกมลูกแก้วเป็นตัวละครสำคัญในเรื่อง ผู้อ่านไม่อาจจะรู้ได้ว่ากฎกติกาของเกม หรือแม้กระทั่งหน้าตาของเกมเป็นอย่างไร เฮสเสเพียงแต่บอกหน้าที่ของเกมให้เรารับรู้แต่เพียงว่า เกมลูกแก้วเป็นภาษาที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ ดังเช่นคณิตศาสตร์กับดนตรี กฎฟิสิกส์และปรัชญา ทฤษฎีเสียงและสี ท่วงทำนองดนตรีที่สามารถวัดค่าได้ ไปจนถึงการทำให้สีมีีเสียงที่ยินได้ หรือเสียงที่มองเห็นได้ เกมลูกแก้วเปรียบเสมือนตัวแทนแสดงความเชื่อที่ว่า ศาสตร์ทั้งหลายในโลกนี้ล้วนนำไปสู่ความจริงเดียวกัน และหากจะมีภาษาที่แสดงถึงความจริงดังกล่าวนั้น เฮสเสได้ตั้งชื่อภาษานั้นว่าเกมลูกแก้ว

การเข่นฆ่าล้างชาติพันธุ์ยิวในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เป็นเครื่องหมายแสดงภาวะความตกต่ำทางจริยธรรมของสังคมเยอรมัน อย่างที่ไม่เคยมีมา สงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ทำให้ภาวะการนับถือตนเองของชาวเยอรมันนั้น บาดเจ็บอย่างยากที่จะเยียวยา เมื่อเหยื่อแห่งการปลดปล่อยตนเองคือการหาแพะมารับบาป แทนที่จะเป็นการตรวจสอบตนเอง ดังนี้จึงเป็นว่า มนุษย์ย่อมทำอนันตริยกรรมได้หากเขาปฏิเสธที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์

และแม้เฮสเสจะต้องลี้ภัยออกมาจากมาตุภูมิ ทั้งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขายชาติ เขายังมิได้ละทิ้งชาวเยอรมันซึ่งเขาถือว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติของเขา เขามองเห็นความล่มสลายภายในจิตวิญญาณของผู้คน จิตใจที่แตกสลายนั้นคือลูกกำพร้าของยุคสมัย และเป็นเด็กหลงทางจากความงามและอุดมคติ เขาพยายามจับจูงจิตใจเหล่านั้นให้กลับเข้ามารวมกัน โดยแสดงให้เห็นถึงความหมายของชีวิตที่แท้และอุดมคติอันงาม หากมีผู้สงสัยว่าเขาทำสำเร็จหรือไม่นั้น ดังที่ตั้งคำถามเอากับเขาว่า เหตุใดจึงให้คเนคชท์ตายอย่างง่ายดายเหลือเกิน เขาได้เขียนจดหมายไปยังสหายผู้หนึ่งว่า

“ถึงที่สุดแล้วมันไม่ใช่เรื่องสำคัญสักเท่าไหร่ว่าคุณจะเข้าใจหรือไม่ ผมหมายถึงมรณกรรมของคเนคชท์ที่ออกจะง่ายดายเหลือเกิน เพราะมรณกรรมของเขาได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับคุณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังที่ได้ทิ้งรอยแผลเป็นไว้กับติโต มันได้ปลุกความรับรู้ของจิตวิญญาณในตัวคุณให้ตื่น และยังคงอยู่ในตัวคุณอย่างนั้นแหละ แม้ว่าคุณจะลืมหนังสือผมไปแล้ว กรุณาฟังเสียง ที่หนังสือไม่ได้ส่งเสียงออกมาอีก แต่เป็นเสียงที่มาจากภายในของคุณเอง เสียงนั้นจะนำคุณต่อไป”

แม้เฮสเสจะเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อคนเยอรมัน แตนักเขียนที่กล่าวถึงจิตวิญญาณของโลกนั้น ย่อมเป็นนักเขียนของมนุษยชาติโดยแท้

เกี่ยวกับผู้เขียน

แฮร์มันน์ เฮสเส (ค.ศ. ๑๘๗๗ – ๑๙๖๒)

เกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๗ ในเมืองคาล์ฟ เมืองเล็ก ๆ ใกล้ป่าดำ พื้นเพทางพ่อเป็นชาวเยอรมัน แม่มีเชื้อสายเยอรมัน-สวิส พ่อและตาเป็นมิชชันนารี ทำงานกับโรงพิมพ์ ตานั้นเคยเป็นมิชชันนารีอยู่ที่อินเดีย พ่อของเฮสเสเคยไปช่วยงาน ในระยะเวลาหนึ่งก่อนจะกลับมาที่เยอรมัน

ในวัยเด็กเฮสเสเป็นเด็กเรียนดี มีความรักในการเขียน แต่ในวัยรุ่น เป็นช่วงขมขื่นพอควร เพราะพออายุได้สิบสี่แม้จะโชคดีสอบผ่านข้อสอบรัฐ และได้ทุนไปเรียนประจำที่มาล์บรอนน์ แต่ได้หนีออกมาหลังจากนั้นไม่นาน และประสบปัญหาทางสุขภาพจิต เคยพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอยู่หลายปี ระหว่างนั้นก็ไปเรียนเป็นเด็กฝึกงานอยู่ในโรงงานทำหอนาฬิกา แล้วค่อยไปเรียนด้านทำหนังสือที่ร้านหนังสือในทือบิงเงน

พอเรียนจบ อายุได้ยี่สิบสองเริ่มเขียนบทกวีออกตีพิมพ์ และออกเดินทางไปที่ต่าง ๆ ทั้งสวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี นิยายเรื่องปีเตอร์ คาเมนซินท์ เป็นนิยายเรื่องแรกที่นำชื่อเสียงมาให้ จากนั้นก็ผลิตงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ใต้วงล้อ เกอทรูด รอสฮัลด์ เป็นงานในช่วงนี้ จนกระทั่งประสบปัญหาในครอบครัว ภรรยาวิกลจริต ลูกชายก็ป่วย พ่อเสียชีวิต เขาต้องออกเดินทางเพื่อเยียวยาตนเอง ระหว่างนั้นมักจะอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ จนกระทั่งได้สัญชาติสวิสฯ

แม้จะแต่งงานใหม่เป็นครั้งที่สองแต่ก็หย่ากันอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งการแต่งงานครั้งสุดท้ายกับนินอน โดลบิน ในปีค.ศ. ๑๙๓๑ จึงนับว่าเขาพบความสงบได้บ้าง สร้างบ้านอยู่ริมมอนตาโนลาและใช้ชีิวิตอยู่จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต งานที่เขียนช่วงนี้เริ่มเกี่ยวข้องกับการค้นคว้าจิตวิญญาณในตัว ได้แก่ สิทธารถะ นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนท์ สเตปเปนวูล์ฟ และเกมลูกแก้ว เฮสเสยังเขียนบทกกวี และมีงานเขียนอื่นตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ และแม้จะได้ชื่อว่าล้มเหลวด้านการเรียนในวัยเด็ก เขาก็ได้รับปริญญาดุษฎีบัฒฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเบิร์น ทั้งยังได้รับรางวัลด้านการเขียนมากมาย รวมทั้งรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. ๑๙๔๖

เฮสเสไม่ได้เขียนอัตชีวประวัติไว้ แต่งานเขียนของเขาล้วนอยู่บนพื้นฐานของชีวิตเขาทั้งสิ้น และอาจจะกล่าวได้ว่า งานเขียนของเขาก็คืออัตชีวประวัติของเขานั้นเอง ชาวไทยรู้จักงานเขียนของเฮสเสมากกว่าชาวเยอรมันคนอื่น ด้วยฝีมือการแปลของ สดใส งานเขียนอย่างสิทธารถะ และเกมลูกแก้ว นั้น แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลุ่มลึกต่อปรัชญาตะวันออก ทั้งอินเดียและจีน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาจิตวิญญาณภายในของมนุษย์ แต่ความคิดของเขาก็ได้รับอิทธิพลจากเฮเกลนักปรัชญาเยอรมันมาไม่น้อย

เขาเป็นกวีที่หาญกล้าแสดงจุดยืนตรงข้ามกับเผด็จการร่วมสมัย และแม้จะเป็นผู้บูชาความเป็นปัจเจก ใช้ชีวิตสันโดษแยกจากสังคม แต่เขายังได้แสดงความรักที่มีต่อโลกผ่านงานเขียน งานเขียนของเขาได้รับการความนิยมเป็นอย่างสูง และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก