Tag Archives: แรงงานข้ามชาติ

ใบหน้าและดวงตาของจิตสำนึกใหม่ในภัยพิบัติน้ำท่วม

10 ธ.ค.

โดย ชลนภา อนุกูล

ใบหน้าของนุ นุ (ภาษาพม่าแปลว่า นุ่มนวล) เรียบเฉย ปากปิดสนิทนิ่ง สายตาเธอทอดมองสายน้ำเบื้องหน้า ยากจะบอกได้ว่าเธอรู้สึกเช่นไร หรือคิดอะไรอยู่

หลังจากน้ำท่วมถึงหน้าโรงงานช่วงบ่าย นายจ้างประกาศปิดโรงงาน คนที่ยืนเฝ้าหน้าประตู เพราะกลัวคนงานหนีกลับบ้านไปเก็บของหายตัวไปแล้ว  เธอกับเพื่อนก็รีบไปเก็บข้าวของออกจากที่พัก ซึ่งขณะนี้หม้อชามรามไหเริ่มลอยขึ้นมาแล้ว

เธอและเพื่อนหยุดงานไม่ได้ในช่วงเช้า เพราะยังไม่ได้รับค่าจ้าง และนายจ้างก็ไม่ได้ประกาศหยุด ถ้าเธอไม่ไปทำงานก็คงชวดทั้งค่าจ้างและงาน

ไปไหนไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรประจำตัว ออกไปก็กลัวถูกตำรวจจับ แถมเป็นผู้หญิง จะตามตำรวจไปสถานีโรงพักคนเดียวก็กระไรอยู่ สู้จ่ายเงิน (เธอเข้าใจว่าเป็นค่าปรับ แต่กฎหมายไทยไม่ได้ระบุเรื่องนี้) รออีกสักสองสามวันให้น้ำลด โรงงานก็คงเปิดตามปรกติ – ด้วยเหตุนี้ เธอยังอยู่กับเพื่อนอีกหลายร้อยคนที่หอพัก ย้ายขึ้นไปบนชั้นที่สูงขึ้นกว่าเดิม

หลายวันผ่านไป น้ำสูงเกินหัว ไม่รู้ว่าน้ำจะลดเมื่อไหร่ ฟังวิทยุและโทรทัศน์ภาษาไทยไม่ออก ข้าวปลาอาหารและน้ำก็ไม่ได้ตุนไว้มากมาย เดินลุยน้ำไปมาเท้าเริ่มเปื่อย ยาก็ไม่มี ไม่ป่วยไข้ช่วงนี้ก็ถือว่าโชคดี แต่เพื่อนเธออีกคนหนึ่งสิ เป็นแม่ลูกอ่อน นมผงก็เริ่มหมด จะยืมจากคนอื่นก็คงยาก ถ้าเปลี่ยนยี่ห้อนม โอกาสท้องเสียค่อนข้างสูง

เริ่มคิดถึงการกลับบ้าน แต่จะกลับได้อย่างไร ค่านายหน้ายังผ่อนจ่ายไม่หมด จะกลับมาอีกครั้งก็ต้องจ่ายใหม่ แต่ละครั้งไม่ใช่เงินจำนวนน้อย

            อาจิณขบฟันแน่น เธอนั่งอยู่บนแคร่ไม้ที่มีข้าวของกองเต็มไปหมด มองโทรทัศน์ในบ้านลอยเท้งเต้งอยู่เหนือกองทัพน้ำเน่าที่ทะลักทะลวงผ่านฝาผนังและประตูเข้ามาอย่างไม่ปรานีปราศรัย

คนอยู่บ้านชั้นเดียวอย่างเธอ ไม่มีปัญญาจะย้ายของไปตรงไหน ฉวยอะไรได้ก็ฉวย สมบัติพัสถานที่มีค่ามากที่สุดในบ้าน – โทรทัศน์ – ก็จมน้ำไปหมดแล้ว เหลือแต่ครกกับสาก เครื่องมือหากินสำหรับตำน้ำพริกขาย อะไรก็หายไปหมด ยกเว้นหนี้(นอกระบบ)อีกก้อนหนึ่ง

น้ำเริ่มสูงขึ้น เธอค่อยย้ายไปวัดใกล้บ้านที่แปลงสภาพเป็นศูนย์พักพิงชุมชนไปแล้ว ไม่อยากจะไปไหนไกล ไม่มีของให้ห่วงก็ยังห่วงบ้าน ถึงจะเป็นบ้านเช่า แต่ก็เป็นที่เดียวที่เธอรู้จัก

เงินเก็บร่อยหรอลงทุกวัน ตอนนี้ไม่มีออร์เดอร์สั่งทำน้ำพริกเลย น้ำท่วมกันหมดบ้านหมดเมืองกันอย่างนี้ คนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีนายจ้างเป็นตัวเป็นตนกับใครเขา แม้จะได้ชื่อว่าเป็นแรงงานนอกระบบ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ แต่เธอกำลังจะอดตาย จะหาเงินยังไง ลูกจะเรียนหนังสือกันยังไง – ประกันสังคมน่ะหรือ เงินช่วยเหลือคนว่างงานน่ะหรือ ชาตินี้ไม่เคยรู้จัก

น้ำท่วมครั้งนี้ กวาดเอาสมบัติ อาชีพ และโอกาสของลูกเธอออกไปเสียเกลี้ยง

            กิ่งและใบของต้นส้มโอนครชัยศรีเฉาแห้ง ไม่ได้ขาดน้ำหรอก หากแต่น้ำขังท่วมเต็มสวนส้มโอมาหลายวันแล้ว รากเริ่มเน่า ไม่รู้จะดูดกินง้วนดินอย่างไร – ถ้าต้นไม้มีตีนก็คงวิ่งหนีน้ำตามมนุษย์ไปแล้ว

ทำไมสวนส้มโอถึงประสบภาวะน้ำท่วมขัง ในขณะที่บางพื้นที่กลับแห้งผาก การตัดสินใจเลือกให้พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่รองรับน้ำเพื่อปกป้องพื้นที่บางส่วนไว้ มีหลักเกณฑ์อะไร ใครเป็นคนตั้ง และคุ้มค่าจริงหรือไม่ นั้นยังเป็นคำถามในเขาวงกตแห่งความเป็นธรรม

ปั๊ก ปั๊ก ปั๊ก ปั๊ก – ต้นส้มโอสะเทือนไปหน่อยหนึ่งตามแรงกระแทก ชาวสวนกลุ่มหนึ่งระดมกำลังเจาะรูระบายอากาศให้ต้นส้มโอ ริดใบและลูกออก กำจัดขยะของเสีย และเพิ่มออกซิเจนลงไปในน้ำ – ทั้งหมดทั้งนั้นเพื่อช่วยชีวิตสวนส้มโอ ด้วยความหวังเพียงว่า รักษาไว้ได้ร้อยละ ๑๐ ก็ถือว่าเป็นโชค จะได้มีพันธุ์ส้มโอนครชัยศรีหลงเหลือไว้ขยายต่อในภายหลัง

คนสวนทำไปเพราะรักต้นไม้ของเขาหรือเพียงเพราะต้องการรักษาแหล่งยังชีพของตน? – คำถามนี้หากตั้งใจตอบก็คงตอบได้ไม่ง่ายนัก

ในภาวะน้ำท่วมทุกหัวระแหง ท่ามกลางบรรยากาศการตามล่าจระเข้และงูกรีนแมมบ้าอย่างเอาเป็นเอาตาย ความพยายามช่วยเหลือต้นส้มโอทำให้เราเห็นขอบเขตของความช่วยเหลือที่ไปไกลกว่าการเอาอาหารไปสงเคราะห์หมาแมวไร้เจ้าของ

หากขอบเขตของจิตสำนึกแห่งความเมตตากรุณาเราไปได้ไกลกว่าเผ่าพันธุ์เดียวกัน แม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีมือมีตีนหรือกระทั่งมีนมเหมือนเรา จิตสำนึกนี้ก็ควรแก่การค้อมหัวเคารพนบน้อม

๔.๑

            หากความไม่เป็นธรรมเปรียบเสมือนกับฝี ในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมที่ผ่านมาฝีนั้นก็แตกง่ายเสียจนตามเช็ดตามเก็บไม่ทัน ปัญหาที่เกิดกับแรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ เกษตรกร ล้วนปรากฏตัวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ตรงโน้นตรงนี้ กลายเป็นปัญหาที่รับมือและแก้ไขยากนักหนาในภาวะวิกฤติ

ทำไมเราต้องสนใจผู้คนเหล่านี้? – บางทีเราอาจจะต้องหันไปถามสมพงษ์ เจ้าของโรงงานปอกเปลือกกุ้งก่อนบรรจุแช่แข็งส่งเข้ามาขายตามห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารต่างๆ บางทีเราอาจจะต้องถามส่องศรี สาวออฟฟิสที่ใช้บริการรถรับจ้าง และซื้อของกินของใช้ตามหาบเร่แผงลอยในตลาดนัด  และบางทีเราอาจจะต้องถามตัวเองว่าอาหารที่เรากินทุกวันนี้มาจากไหน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ โครงสร้างแบบไหนที่กำหนดให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังประสบภัย  มากกว่าคนทั่วไป? และ – วิธีคิด จิตสำนึกแบบไหนที่กำกับบังคับบัญชาโครงสร้างเหล่านั้น?

จิตสำนึกใหม่ที่จะนำพาเราไปสู่อนาคตใหม่นั้นมีใบหน้าและดวงตาเป็นอย่างไรหนอ?

๔.๒

นกสองสามตัวส่งเสียงทะเลาะอยู่บนกิ่งต้นกระจงเหนือหัวข้าพเจ้า มดแดงตัวโตแบกเม็ดข้าวไต่อยู่บนกางเกง ข้าพเจ้าปรบมือไล่นกเกเรไปรอบหนึ่ง ก่อนดีดมดแดงให้หล่นลงไปบนพื้น แต่นกยังไม่หยุดร้อง เงยหน้าขึ้นไปมองเห็นรังนกเบ้อเริ่มอยู่ด้านบน เลยได้แต่ยอมแพ้ ใครเลยจะไล่นกขี้โวยวายออกจากรังของมันได้

อย่างไรก็ดี – ข้าพเจ้านึก – หากโลกมองมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เสาะแสวงหาแต่ความขัดแย้งและเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่สุดไม่สิ้น ทั้งต่อเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน ต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน และต่อภูเขา ทะเล อากาศ ป่าไม้ สักวันโลกอาจจะเอื้อมนิ้วมือมาดีดเราเบา-เบาเหมือนที่ข้าพเจ้าดีดเจ้ามดตัวนั้นก็เป็นได้